ภาพมุมกว้างของดาวพฤหัสบดีในห้วงอวกาศ บันทึกโดยกล้อง JWST

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ (JWST) สามารถบันทึกภาพใหม่ของดาวพฤหัสบดีในย่านรังสีอินฟราเรด ด้วยความคมชัดสูงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งภาพดังกล่าวจะเผยถึงข้อมูลและรายละเอียดใหม่ ๆ ที่ทำให้นักดาราศาสตร์เข้าใจดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ดวงนี้มากขึ้น

.

ภาพมุมกว้างที่บันทึกในครั้งนี้เผยให้เห็นดาวพฤหัสบดีในห้วงอวกาศ โดยมีแสงเหนือและแสงใต้เรืองรองออกมาจากขั้วทั้งสองของดาว ทั้งมีลำแสงที่เกิดจากการเลี้ยวเบน (diffraction) ของแสงใต้สว่างเป็นพิเศษ

.

นอกจากนี้ ภาพดาวพฤหัสบดีในมุมกว้างยังเผยให้เห็นวงแหวนจาง ๆ ที่ตามปกติจะมองเห็นได้ยากมาก เพราะมีความสว่างน้อยกว่าดาวพฤหัสบดีนับล้านเท่า

.

ทางด้านซ้ายของภาพในระนาบเดียวกับวงแหวนยังสามารถมองเห็นจุดสว่าง ซึ่งก็คือดวงจันทร์บริวารขนาดเล็ก 2 ดวงคือ Amalthea และ Adrastea ได้อีกด้วย ส่วนจุดสีขาวมัวอื่น ๆ ในมุมซ้ายล่างของภาพ คือแสงสลัวจากกาแล็กซีอันไกลโพ้น

.

ภาพรายละเอียดของกลุ่มเมฆและพายุหมุนบนดาวพฤหัสบดี บันทึกโดยกล้อง JWST

กล้อง JWST ใช้อุปกรณ์ NIRCam ซึ่งเป็นกล้องบันทึกภาพรังสีอินฟราเรดย่านใกล้ สำหรับการถ่ายภาพดาวพฤหัสบดีในครั้งนี้ แต่เนื่องจากสายตาของมนุษย์ไม่สามารถจะมองเห็นแสงในย่านอินฟราเรดได้ จึงมีการแปลงข้อมูลความยาวคลื่นอินฟราเรดที่ปรากฏให้เป็นสีต่าง ๆ โดยช่วงคลื่นที่มีความยาวมากกว่าจะออกไปทางสีแดง ดังเช่นแสงเหนือ-แสงใต้ที่บันทึกได้ในครั้งนี้ ในขณะที่ช่วงคลื่นซึ่งสั้นกว่าจะออกไปทางสีน้ำเงิน

.

ส่วนภาพที่ซูมเข้าใกล้ดาวพฤหัสบดีทั้งใบ จนสามารถมองเห็นรายละเอียดของกลุ่มเมฆและพายุหมุนได้อย่างชัดเจนนั้น มาจากการซ้อนข้อมูลภาพที่บันทึกไว้ในแต่ละชั่วขณะหลายพันรูป เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดของดาวพฤหัสบดีซึ่งหมุนรอบตัวเองด้วยความเร็วสูง

.

พายุหมุนตรงจุดแดงใหญ่ (Great Red Spot) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของดาวพฤหัสบดีที่เราคุ้นเคยนั้น ในภาพใหม่จากกล้อง JWST จะกลับเห็นเป็นจุดสีขาวสว่าง เนื่องจากมีการสะท้อนแสงอาทิตย์เกิดขึ้น ซึ่งแสดงว่าพายุหมุนขนาดยักษ์นี้มีกลุ่มเมฆและหมอกควันลอยอยู่ข้างบนที่บรรยากาศระดับสูงมาก จึงมองเห็นในย่านรังสีอินฟราเรดเป็นสีขาวเช่นเดียวกับบริเวณเส้นศูนย์สูตรของดาว ส่วนจุดและแถบต่าง ๆ ที่เห็นเป็นสีดำนั้นคือบริเวณที่มีเมฆหมอกปกคลุมน้อย

.

ศาสตราจารย์ เทียร์รี ฟูเชต์ จากหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์กรุงปารีส หนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์ผู้ดูแลกล้อง JWST บอกว่า “ภาพนี้เพียงภาพเดียว สามารถรวบรวมและสรุปความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของดาวพฤหัสบดีเอาไว้ได้เกือบทั้งหมด ซึ่งเป็นสิ่งที่โครงการศึกษาระบบดาวพฤหัสบดีของเราต้องการจะทราบ ทั้งเรื่องพลวัตของดาว องค์ประกอบทางเคมี วงแหวนของมัน และดวงจันทร์บริวาร”

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c0wn00q6ll6o