มาร์ค โกติเยร์ วัย 63 ปี เป็นผู้ป่วยรายแรกที่เข้าโครงการผ่าตัดปลูกถ่ายประสาทเทียมในผู้ป่วยพาร์กินสัน เพื่อให้เขากลับมาเคลื่อนไหวได้ตามปกติ 2 พ.ย. 2023 (รอยเตอร์)

ทีมแพทย์สวิตเซอร์แลนด์ พัฒนาเทคโนโลยีการผ่าตัดปลูกถ่ายประสาทเทียมในผู้ป่วยพาร์กินสัน เพื่อช่วยให้พวกเขาสามารถขยับเขยื้อนร่างกายได้ นับเป็นการช่วยยกสร้างความมั่นใจ พัฒนาการเคลื่อนไหวร่างกาย และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น

.

มาร์ค โกติเยร์ วัย 63 ปี ชาวเมืองบอร์โด ประเทศฝรั่งเศส ที่ป่วยด้วยโรคพาร์กินสันเป็นระยะเวลานานและต้องรักษาตัวอยู่ที่บ้าน เมื่อเร็ว ๆ นี้ เขาเป็นผู้ป่วยรายแรกที่ได้รับการฝังอุปกรณ์ซึ่งออกแบบโดยการแพทย์สวิส ที่ช่วยพัฒนาการเดินของเขาได้อย่างมาก

.

การผ่าตัดปลูกถ่ายประสาทเทียมดังกล่าวเกิดขึ้นที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโลซาน (CHUV) เป็นการนำสื่อนำไฟฟ้าไปติดตั้งไว้ที่ไขสันหลังของผู้ป่วย และเมื่อใช้งานร่วมกับเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าบริเวณผิวหนังที่ช่องท้อง อุปกรณ์นี้จะกระตุ้นไขสันหลังเพื่อส่งสัญญาณให้กล้ามเนื้อขาทำงาน

.

โกติเยร์กล่าวขณะที่กำลังอยู่กับเหล่าแพทย์ ที่โรงพยาบาล CHUV ว่า “มันได้เปลี่ยนชีวิตผม เพราะตอนนี้ผมสามารถทำอะไรด้วยตัวเองได้แล้ว” และเสริมว่า “ผมสามารถออกจากบ้าน ไปทำธุระ ผมยังใช้เท้าเดินเองด้วย”

.

โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมทางระบบประสาท โดยมีอาการต่างๆ เช่น อาการสั่น อาการตึง รวมถึงความยากลำบากในการรักษาสมดุลและสั่งการร่างกาย

.

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ป่วยโรคพาร์กินสันเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า ในปี 2019 ประมาณการตัวเลขผู้ป่วยทั่วโลกที่มีอาการดังกล่าวอยู่ที่มากกว่า 8.5 ล้านคน

.

นายแพทย์ เกรกัวร์ คูร์ทีน อาจารย์ด้านประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัย Swiss Federal Institute of Technology Lausanne (EPFL) มหาวิทยาลัย Lausanne และโรงพยาบาล CHUV หนึ่งในแพทย์ที่เป็นหัวหน้าของโครงการนี้ กล่าวว่าคลื่นไฟฟ้าที่ส่งไปยังไขสันหลังของผู้ป่วยอย่างโกติเยร์ ทำให้เขาเดินได้เหมือนกับตอนที่ไม่ได้ป่วย นายแพทย์คูร์ทีนยังแสดงความมั่นใจว่า จะมีคนจำนวนมากที่ได้ประโยชน์จากการรักษานี้

.

ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Medicine เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้รับการศึกษาโดยทีมของนายแพทย์คูร์ทีน จากศูนย์วิจัย NeuroRestore ชี้ว่าเทคโนโลยีข้างต้นสามารถนำมาใช้งานได้อย่างแพร่หลายในกลุ่มผู้ป่วยโรคพาร์กินสันขั้นรุนแรง ที่ส่วนใหญ่เผชิญกับปัญหาควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกาย

.

เดฟ มาร์เวอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท Onward Medical ซึ่งเป็นผู้ออกแบบอุปกรณ์ปลูกถ่ายสำหรับผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน อธิบายว่าแม้ว่าอุปกรณ์นี้จะคล้ายกับเครื่องกระตุ้นหัวใจแบบฝัง และอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับจัดการความเจ็บปวด แต่ความพิเศษของเทคโนโลยีนี้ คือ มันสามารถกำหนดเป้าหมายไปยังไขสันหลังได้ ทั้งในรูปแบบเฉพาะเจาะจงและในรูปแบบที่ยืดหยุ่นได้

.

ในทัศนะของมาร์เวอร์ เขามองว่าในระบบการดูแลสุขภาพ อุปกรณ์นี้อาจจะดูไม่แตกต่างมากนัก อย่างไรก็ดีมันเป็นอุปกรณ์ช่วยบำบัด ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

.

โจเซลีน โบลช์ ศัลยแพทย์ระบบประสาทผู้ทำการผ่าตัดให้กับโกติเยร์ และเป็นผู้อำนวยการร่วมของ ศูนย์ NeuroRestore กล่าวว่า “จากการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว หาก(ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน) มั่นใจเพิ่มขึ้น สามารถออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน มีสังคมที่ดีขึ้น ทำสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น มันจะช่วยอย่างมากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงคุณภาพชีวิตของพวกเขา”

.

ตามรายงานชี้ว่า ทีมของนายแพทย์คูร์ทีนวางแผนที่จะทำการวิจัยทดลองทางคลินิคกับผู้ป่วยใหม่อีกจำนวน 6 ราย ในปีหน้า

ที่มา : voathai https://www.voathai.com/a/swiss-designed-technology-helps-parkinson-s-patient-walk-again/7349345.html