ปลาแดนีโอเนลลา ซีรีบรัม (Danionella cerebrum) ซึ่งเป็นปลาชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาตะเพียน ใช้กระเพาะลมตีเป็นจังหวะรัวกลองอันทรงพลัง

เมื่อไม่นานมานี้นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ ปลาชนิดหนึ่งที่มีรูปร่างเล็กจิ๋วโปร่งใส พวกมันสามารถส่งเสียงดังราวกับเครื่องสกัดคอนกรีต

.

การค้นพบครั้งนี้เกิดขึ้นภายหลังจากนักวิทยาศาสตร์ได้ยินเสียงดังลึกลับจากตู้ปลาที่ตั้งอยู่ภายในห้องปฏิบัติการจึงทำการตรวจสอบ

.

สิ่งที่พวกเขาพบคือ ปลาแดนีโอแนลลา ซีรีบรัม (Danionella cerebrum) ซึ่งเป็นปลาชนิดหนึ่งในวงศ์ปลาตะเพียน พวกมันใช้กระเพาะลมตีเป็นจังหวะแรงมาก โดยวัดความดังในน้ำได้ถึง 140 เดซิเบล ซึ่งดังพอ ๆ กับเสียงยิงปืน

.

นักวิจัยเชื่อว่า ปลาเล็กจิ๋วทีมีขนาดความยาวของลำตัวเพียง 12 มิลลิเมตร นี้ ถือว่าเป็นปลาที่ทำเสียงดังที่สุดในบรรดาสายพันธุ์ปลาขนาดเดียวกัน และเชื่อว่า เสียงดังรัว ๆ ดังกล่าวอาจเป็นรูปแบบหนึ่งของการสื่อสารทางสังคม

.

โดยธรรมชาติแล้ว ยิ่งสัตว์มีขนาดใหญ่มากเท่าใด เสียงของมันจะยิ่งดังขึ้นเท่านั้น แต่กลับไม่ใช่สำหรับโลกใต้น้ำ เนื่องจากพบว่า สัตว์ทะเลขนาดเล็กเป็นหนึ่งในสัตว์ที่มีเสียงดังมากที่สุด

.

นักวิทยาศาสตร์ทราบดีว่า สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เช่น กุ้งไกปืน สามารถสร้างเสียงดังขนาด 200 เดซิเบล ขณะที่ออกล่าเหยื่อสายพันธุ์อื่น

.

คุณสมบัติที่ดีของปลาแดนิโอแนลลาคือ การที่มันมีลำตัวโปรงใส จึงช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถศึกษาพฤติกรรมของมันได้อย่างใกล้ชิด รวมทั้งการทำงานของสมองของมันได้ด้วย

.

ปลาจวดดำขนาดมหึมาคือปลาอีกชนิดหนึ่งที่มีเสียงดัง

นักวิทยาศาสตร์สังเกตเห็นบางสิ่งที่แปลกประหลาด ระหว่างการทำงานศึกษาปลาเหล่านี้อย่างใกล้ชิดภายในห้องปฏิบัติการแห่งหนึ่งในประเทศเยอรมนี

.

“ผู้คนเดินผ่านตู้ปลา และพวกเขาก็ได้ยินเสียงเหล่านี้ ทำให้พากันสงสัยว่าเสียงมาจากไหน” กล่าวโดย เวริตี คุก นักศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยชาริเต้ในกรุงเบอร์ลิน ซึ่งเป็นผู้เขียนนำในงานศึกษาชิ้นนี้ด้วย

.

“ปรากฏว่าเสียงมาจากตัวปลาเอง และมันเป็นเรื่องที่พิเศษมาก เพราะพวกมันมีขนาดเล็กจิ๋ว แต่เสียงดังมาก”

.

นักวิจัยต้องใช้ไมโครโฟนและกล้องวิดีโอจำนวนมากเพื่อบันทึกภาพและเสียงในการศึกษาว่า ปลาชนิดนี้สร้างเสียงดังขึ้นมาได้อย่างไร

.

“ในระยะหนึ่งลำตัวห่างออกไป แอมพลิจูดของเสียงอยู่ที่ประมาณ 140 เดซิเบล นั่นคือความดังที่เราเชื่อว่าปลาตัวอื่นรับรู้ได้” เธอบอกกับบีบีซี

.

“เสียงจะลดทอนความดังตามระยะทาง ดังนั้นระยะที่ห่างออกไป 1 เมตร แอมพลิจูดของเสียงจะอยู่ที่ประมาณ 108 เดซิเบล”

.

แต่ความดังยังคงเทียบเท่ากับเสียงของรถแทรกเตอร์ดันดิน

.

เสียงส่วนใหญ่สะท้อนกลับลงไปในน้ำ ดังนั้น เมื่อมนุษย์ยืนอยู่ข้างตู้ปลา พวกเขาจะได้ยินเสียงเป็นจังหวะหึ่ง ๆ อย่างต่อเนื่อง

.

แม้มีปลาชนิดอื่น ๆ รวมถึง ปลาจวดดำ และปลาเพลนฟิน มิดชิปแมน ที่มีเสียงดังเช่นกัน แต่ขนาดของพวกมันใหญ่กว่าปลาแดนิโอแนลลาอย่างมาก

.

“ในแง่ของการส่งสัญญาณสื่อสารกัน ฉันไม่พบสัตว์ขนาดเล็กชนิดอื่น ๆ ที่ทำเสียงดังขนาดนี้ได้” คุกกล่าวเสริม

.

นักวิจัยให้เหตุผลว่า กลไกทำเสียงรัว ที่ปลาชนิดนี้ใช้ มันมีความซับซ้อนมาก

.

ปลามีกระดูกทั้งหมดจะมีกระเพาะลม ที่ใช้ในการเก็บกักอากาศเพื่อช่วยให้พวกมันอยู่ใต้น้ำได้นาน

.

ปลาหลายชนิดใช้กล้ามเนื้อรัวตีที่กระเพาะลมเพื่อสร้างเสียง แต่ปลาแดนิโอเนลลาล้ำหน้าไปอีกหลายขั้น กล่าวคือ เมื่อกล้ามเนื้อหดตัวลง มันจะดึงซี่โครงลงไปด้วย และส่งแรงตึงไปยังกระดูกอ่อนที่อยู่ภายในกล้ามเนื้ออีกที เมื่อกระดูกอ่อนถูกปล่อยออกมา มันจะกระทบกับกระเพาะลมของปลา

.

การศึกษายังค้นพบอีกว่า มีเพียงตัวผู้เท่านั้นที่ทำเสียงนี้ และจะทำก็ต่อเมื่ออยู่รวมกันเป็นพวกเท่านั้น โดยบางตัวอาจมีเสียงดังกว่าตัวอื่น ๆ

.

“เราทราบว่าเมื่อมีตัวผู้ 8 ตัวอยู่ในถังขนาดใหญ่ จะมีแค่ 3 ตัวที่ทำเสียงดังออกมา ขณะที่ตัวอื่น ๆ พากันเงียบ ดังนั้น เราจึงคิดว่าอาจมีลำดับชั้นอะไรบางอย่าง” คุกบอก

.

นักวิจัยเชื่อว่า วิวัฒนาการของพวกมันที่เติบโตภายใต้แหล่งน้ำขุ่นแถบประเทศเมียนมา มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความสามารถด้านการทำเสียงดัง เพื่อช่วยให้มันสื่อสารถึงกันได้

.

“วิวัฒนาการช่วยคิดค้นวิธีการที่น่าสนใจมากมาย เพื่อแก้ปัญหาที่น่าสนใจจำนวนมาก” คุกกล่าว

.

“และเราไม่ควรสันนิษฐานว่าพวกเรารู้ว่าสิ่งต่าง ๆ ทำงานอย่างไร เพียงเพราะว่าเราพบเห็นสิ่งดังกล่าวในสายพันธุ์อื่น ๆ”

.

งานศึกษาชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (Proceedings of the National Academy of Sciences- PNAS)

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/cw9e914lvrno