อาการแพ้ส่วนใหญ่มักเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำปฏิกิริยาต้านสิ่งแปลกปลอม จนส่งผลให้เผยออกมาในลักษณะอาการแพ้ต่างๆ เช่น การไอ การจาม แต่นอกเหนือรับประทานยาเพื่อรักษาแล้ว ยังมี สารต้านฮิสตามีนจากธรรมชาติ ที่คุณสามารถกินบรรเทาอาการแพ้ได้ด้วย

สารต้านฮิสตามีน ทำงานอย่างไร

เนื่องจากฮิสตามีนในร่างกาย เป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่มักเข้าไปกระตุ้นจนก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้ เช่น การจาม คันดวงตา คันในลำคอ ดังนั้น เมื่อเกิดอาการแพ้ เราจึงควรรีบกินยา หรือพ่นสเปรย์ในที่มีสารต้านฮิสตามีนอยู่ภายในเข้าไป เพื่อช่วยบรรเทาอาการภูมิแพ้ โดยสารนี้จะเข้าไปขัดขวางการทำงานของฮิสตามีนที่หลั่งออกมาไม่ให้ไปทำปฏิกิริยาจนเกิดอาการแพ้นั่นเอง

5 สารต้านฮิสตามีนจากธรรมชาติ รักษาอาการภูมิแพ้

ถึงแม้อาการแพ้ จะมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น แพ้ละอองเกสร แพ้อาหาร แพ้ขนสัตว์ แพ้ฝุ่น เป็นต้น แต่หากมีอาการที่ไม่รุนแรงมากนัก คุณอาจสามารถหาซื้ออาหารที่มีส่วนประกอบของสารต้านฮิสตามีนจากธรรมชาติ เหล่านี้ เก็บไว้รับประทานอย่างสม่ำเสมอได้

  1. วิตามินซี

วิตามินซีมักอยู่ในผัก และผลไม้หลายชนิด เช่น พริกหวาน บรอกโคลี แคนตาลูป กะหล่ำ กีวี สตรอว์เบอร์รี่ มะเขือเทศ รวมถึงผลไม้ที่รสชาติออกเปรี้ยว อีกทั้งในปัจจุบันก็เริ่มมีผู้ผลิตบางรายหันมานิยมนำผักผลไม้ข้างต้นมาสกัดเป็นอาหารเสริมให้อยู่ในรูปแบบเม็ด และผงชงละลายน้ำ พร้อมปรับกลิ่นไม่ให้เหม็นเขียว เพื่อให้ผู้บริโภครับประทานได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

  1. โบรมีเลน (Bromelain)

สารต้านฮิสตามีนจากธรรมชาติ ชนิดนี้ เป็นเอนไซม์ที่ส่วนใหญ่พบมากในน้ำสับปะรด และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จากการวิจัยในหนูทดลองแสดงให้เห็นว่า โบรมีเลนสามารถลดอาการแพ้ และต้านการอักเสบของโรคภูมิแพ้ได้

  1. บัตเตอร์เบอ (Butterbur)

ส่วนมากพบได้จากพืชประเภทไม้พุ่มที่มีแหล่งกำเนิดแถบทวีปยุโรป มีส่วนช่วยในการรักษาอาการไมเกรน และภูมิแพ้ อีกทั้งหน่วยงาน National Center for Complementary and Integrative Health (NCCIH) ยังระบุไว้ว่าบัตเตอร์เบอนี้อาจมีฤทธิ์ต้านสารฮิสตามีนที่จะอาจช่วยบรรเทาอาการแพ้ได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การบริโภคบัตเตอร์เบอก็อาจเพิ่มความเสี่ยงสุขภาพได้เช่นกัน เพราะอาจทำให้เกิดอาการท้องร่วง ระคายเคืองดวงตา ปวดศีรษะ เหนื่อยล้า เป็นต้น

  1. โพรไบโอติกส์ (Probiotics)

เป็นจุลินทรีย์อีกหนึ่งชนิดที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะสุขภาพระบบทางเดินอาหาร เพราะช่วยปรับสมดุลของแบคทีเรียในกระเพาะให้อยู่ระดับพอดี ทั้งยังช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้พร้อมต่อสู้กับอาการแพ้ที่อาจเกิดกับคุณทุกเมื่อได้อีกด้วย

  1. เควอซิทิน (Quercetin)

เควอซิทิน (Quercetin) คือ ฟลาโวนอยด์ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ สามารถพบได้ในพืช และอาหารหลากหลายชนิด เช่น ชาดำ แอปเปิ้ล ผลเบอร์รี่ องุ่น แปะก๊วย ชาเขียว พริกไทย จากงานศึกษาในสัตว์ทดลองชิ้นหนึ่ง พบว่า เควอซิทินอาจช่วยปรับปรุงระบบทางเดินหายใจ ลดการอักเสบที่เกี่ยวข้องกับโรคภูมิแพ้ได้ แต่หากรับประทานในระยะยาว ก็อาจทำให้ผู้บริโภคบางรายมีผลข้างเคียงบางอย่างเกี่ยวข้องกับไตเกิดขึ้นได้เช่นกัน

อาการภูมิแพ้รุนแรง ที่ควรพบแพทย์

อาการแพ้ แต่ละรูปแบบมักมีอาการปรากฏออกมาแตกต่างกันออกไป แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว หากคุณมีอาการดังต่อไปนี้ อาจจำเป็นต้องรีบเข้ารับการรักษาจากแพทย์ใกล้แหล่งที่อยู่อาศัยคุณในทันที อย่ามัวรีรอ

  • ลมพิษ
  • อาการบวมบริเวณริมฝีปาก ลิ้น ใบหน้า ลำคอ
  • แน่นหน้าอก
  • ผื่นที่ผิวหนัง
  • รู้สึกมึนงง
  • ความดันโลหิตลดลง
  • อัตราการเต้นของชีพจรเปลี่ยนแปลงไป
  • หมดสติ

เมื่อคุณทราบแล้วว่าตนเองนั้นแพ้สารใดบ้าง โปรดป้องกันตนเองอีกขั้นด้วยการหลีกเลี่ยงสิ่งที่ตัวคุณแพ้อย่างเด็ดขาด และหมั่นเข้มงวดในการตรวจสอบส่วนประกอบที่คุณอาจแพ้จากฉลากข้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ อยู่เสมอก่อนบริโภค

หากเป็นกรณีแพ้ฝุ่น คุณอาจต้องเตรียมเครื่องฟอกอากาศ พร้อมทำความสะอาดที่อยู่อาศัยอย่างเป็นประจำ และพกยาปฏิชีวนะไว้ติดตัวอยู่เสมอ เพื่อเป็นการป้องกันตนเองอีกขั้นไม่ให้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกายได้

 ภาพ :iStock