อ่านประมวลสารสนเทศพร้อมใช้ฉบับเต็มที่นี่ >> 

บทคัดย่อ :

แสงแดดมีประโยชน์มากมาย แต่หากได้รับมากเกินไปก็เป็นอันตรายและเกิดผลเสียต่อผิวหนัง ปัจจุบันมีการป้องกันผิวหนังจากรังสีอัลตราไวโอเลต (ultraviolet) ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทุกวัยโดยการใช้ครีมกันแดด (sunscreen) ที่มีฤทธิ์ป้องกันแสง ทั้งนี้ผิวหนังมีการตอบสนองต่อแสงแดดที่แตกต่างกัน คนที่มีปริมาณเม็ดสี (melanin) น้อย (ผิวขาว) จะเกิดการไหม้แดด (sunburn) ได้ง่ายกว่าคนผิวคล้ำ สีผิวสามารถจำแนกชนิด โดยใช้ค่า ITA ในการเทียบสี ซึ่งรังสีอัลตราไวโอเลตแบ่งได้เป็น 4 ช่วงคลื่นตามความยาวคลื่นแสงคือ ช่วงที่ 1 ความยาวคลื่น 100-290 นาโนเมตร เรียกว่า “ รังสี UVC ” ซึ่งเป็นอันตรายมากต่อนิวเคลียสของเซลล์จะถูกกรองโดยโอโซนไม่สามารถผ่านมาถึงพื้นโลก พวกเราจึงปลอดภัยจากรังสี UVC, ช่วงที่ 2 ความยาวคลื่น 290-320 นาโนเมตร เรียกว่า “ รังสี UVB ” รังสีชนิดนี้มีผลทำให้เกิดการไหม้แดด ทำให้ผิวหมองคล้ำ ถ้าได้รับปริมาณมากเกินไปอาจเกิดมะเร็งผิวหนังได้, ช่วงที่ 3 ความยาวคลื่น 320-400 นาโนเมตร เรียกว่า “ รังสี UVA ” ซึ่งมีพลังงานต่ำกว่ารังสี UVB แต่สามารถผ่านผิวหนังและลกตาได้มากกว่า โดยในแสงแดดมีปริมาณรังสี UVA มากกว่า UVB (UVA 95% และ UVB 5%) รังสีชนิดนี้มีผลทำให้สีผิวคล้ำและผิวหนังเหี่ยวย่น, ช่วงที่ 4 ความยาวคลื่นระหว่าง 400 - 760 นาโนเมตร สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ปัจจุบันผลิตภัณฑ์กันแดดได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับการปกป้องผิวจากแสงแดด นวัตกรรมของผลิตภัณฑ์กันแดดมักจะเพิ่ม SPF (Sun Protection Factor) ให้มากขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปกป้องผิวยิ่งขึ้น จึงควรเลือกครีมกันแดดที่มีคุณภาพและคุณสมบัติที่เหมาะสมกับสภาพผิว ผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ ครีมกันแดดชนิดอินทรีย์ (organic sunscreens) และครีมกันแดดชนิดอนินทรีย์ (inorganic sunscreens) ครีมกันแดดที่เหมาะสมกับสภาพผิวต้องไม่มีพิษและไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ที่ผิวหนัง สะดวกในการใช้ทาและคงสภาพ เก็บไว้ได้นานทั้งทางเคมีและทางกายภาพ ครีมกันแดดชนิดอินทรีย์สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ต่อผิวหนังที่สัมผัสได้ เช่น ทำให้เกิดอาการแสบร้อน คันหรือเป็นผื่น จึงมีการใช้สารกลุ่มนี้น้อยลง สำหรับครีมกันแดดชนิดอนินทรีย์สามารถออกฤทธิ์ป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตได้ดี มีการดูดซึมเข้าผิวหนังได้น้อย ค่อนข้างปลอดภัย ไม่เกิดการแพ้ได้ง่าย โดยแสงแดดและฝุ่นละอองมีผลต่อผู้ที่มีปัญหาผิวแพ้ง่ายและก่อให้เกิดสิวได้การได้รับแสงแดดอย่างต่อเนื่องรุนแรงมีผลต่อผิวหนังในระยะยาว ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังมักแนะนำให้เริ่มใช้ครีมกันแดดและครีมต้านแดดตั้งแต่วัยเยาว์เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนังและผิวเสื่อมสภาพก่อนวัย สูตรผลิตภัณฑ์ครีม กันแดดที่ใช้เพื่อปกป้องแสงแดดอาจไม่เหมาะกับผิวหนังที่เป็นสิว ดังนั้นการเลือกใช้เครื่องสำอางควรจะเลือกผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่าไม่ทำให้เกิดสิว ที่มีฉลากว่า “ Oil free ” หรือปราศจากน้ำมัน ทั้งนี้ริ้วรอยเหี่ยวย่นก่อนวัย ฝ้า กระ และผิวหมองคล้ำอาจอุบัติขึ้นได้บนใบหน้าหากไม่รู้จักการป้องกันแสงแดดที่ถูกวิธีจึงควรเลือกใช้ครีมกันแดดที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดดที่เพียงพอ ซึ่งครีมกันแดดที่ดีควรมีความสามารถป้องกันรังสีทั้ง UVA และ UVB2 มะเร็งผิวหนัง มีสาเหตุเกิดจากแสงแดดที่เผาไหม้ผิวหนังขั้นรุนแรงและสะสมมาเป็นเวลานาน รวมถึงการขาดวิตามินดีทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ เต้านม รังไข่ และต่อมลูกหมาก การรับประทานวิตามินดีเสริมหรือร่างกายที่มีการสังเคราะห์วิตามินดีจากแสงแดดสามารถช่วยลดอัตราเสี่ยงจากโรคมะเร็งทรวงอก มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้และมะเร็งมดลูกได้ ด้วยการได้รับแสงแดดประมาณ 15 นาทีต่อวันก็เพียงพอกับความต้องการวิตามินดี

คำสำคัญ : ครีมกันแดด, อัลตราไวโอเลต, เมลานิน, มะเร็งผิวหนัง
Keywords : Sunscreens, Ultraviolet, Melanin, Skin cancer, Sun protection factor (SPF)