นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 จนถึงวันนี้ ไม่มีใครไม่รู้จักโรคไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 จุดเริ่มต้นนับตั้งแต่ประเทศจีนประกาศพบผู้ติดเชื้อ ที่ตลาดค้าสัตว์ป่าเมืองอู่ฮั่นหรือตลาดขายอาหารทะเลสด South China Seaboard เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน จากนั้นการแพร่ระบาดกระจายไปในหลายพื้นที่ โรคโควิด-19 ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปอดอักเสบรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้ โดยที่เชื้อไวรัสตัวนี้สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คน ผ่านการไอ จาม หรือสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย

.

สำหรับประเทศไทย พบผู้ป่วยหญิง อายุ 61 ปี สัญชาติจีน เดินทางจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ติดเชื้อโควิด-19 คนแรกในไทยเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2563 ต่อมาวันที่ 31 มกราคม 2563 พบชายไทย อายุ 50 ปี มีอาชีพขับแท็กซี่ในกรุงเทพมหานคร ติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากรับผู้โดยสารชาวจีนจากเมืองอู่ฮั่นซึ่งมีอาการป่วยไปส่งโรงพยาบาล ถือได้ว่า ชายคนนี้เป็นคนไทยรายแรกที่ติดเชื้อโควิด-19 โดยไม่เคยมีประวัติเดินทางไปประเทศจีนมาก่อน

.

จากการพบผู้ติดเชื้อในครั้งนั้น การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกที่ 2 เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 17 ธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่พบหญิงไทย อายุ 67 ปี มีอาชีพค้าขายที่ตลาดกลางกุ้ง ใน ต.มหาชัย
อ.เมืองสมุทรสาคร ติดเชื้อโดยไม่มีประวัติการเดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งหมายความว่าผู้ติดเชื้อรายนี้ไม่ได้เป็น "ต้นเชื้อ" ทางกรมควบคุมโรคจึงได้พยายามค้นหาต้นเชื้อหรือสาเหตุการติดเชื้อของหญิงรายนี้ ซึ่งคาดว่าเป็นการติดเชื้อจากแรงงานชาวเมียนมาร์ในตลาดกลางกุ้ง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีแรงงานเมียนมาร์อยู่อย่างหนาแน่น ต่อมาเมื่อลงไปตรวจในพื้นที่ ก็พบว่า มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากโดย 90% เป็นแรงงานเมียนมาร์ ที่เหลือเป็นคนไทย และเกือบ 90% ของผู้ติดเชื้อพบว่า ไม่มีอาการ เป็นสาเหตุให้เกิดการแพร่ระบาดสู่ผู้อื่นได้ง่าย อีกทั้งแรงงานเมียนมาร์พักอยู่รวมกันอย่างแออัด จึงเกิดการติดเชื้อจำนวนมาก

.

ทิ้งช่วงจากระลอกสองไม่นาน ในต้นเดือนเมษายน 2564 ประเทศไทยกลับมาเผชิญวิกฤตโควิด-19ระบาดระลอกที่สามอีกครั้ง ในครั้งนี้ เป็นการระบาดของโควิดสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) จากคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อ ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันพุ่งขึ้นต่อเนื่อง จากความรุนแรงของเชื้อและแพร่กระจายง่ายอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำแนกเป็นสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) และสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกา) ร่วมด้วย เป็นการติดเชื้อจากการใช้ชีวิตประจำวัน นำเชื้อโรคเข้าสู่คนในครอบครัว ทำให้มีผู้ติดเชื้อสูงหลักหลายพันคนต่อวัน ในขณะที่ภาครัฐได้จัดสรรวัคซีน Sinovac จำนวน 5,604,641 โดส และ AstraZeneca จำนวน 2,281,370 โดส ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป บุคคลที่มีโรคประจำตัว และประชาชนในพื้นที่เสี่ยง จากการติดตามผลการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ในระบบฐานข้อมูล MOPH Immunization Center พบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 26 มิถุนายน 2564 มีทั้งหมด 9,055,141 โดส ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ จำแนกเป็น ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 6,475,826 ราย และจำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ (ได้รับวัคซีน 2 เข็ม) จำนวน 2,579,315 ราย

.

จากการระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งสามระลอก ทำให้มีมาตรการป้องกันการระบาดโรคโควิด-19 ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการออกมามากมาย เช่น “กินร้อนช้อนเรา” “ไม่ประมาทการ์ดอย่าตก” “Stay at home” “Social Distancing” “สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา พกเจลล้างมือ ล้างมือบ่อย ๆ” เป็นต้น ทั้งนี้ ไม่ว่าขณะนี้สถานการณ์การติดเชื้อโรคโควิด-19 จะวิกฤตในระดับใด การเฝ้าระวังโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่ประชาชนยังคงต้องป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด โดยยึดหลักปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน D-M-H-T-T ดังนี้

.

5 วิธีนี้..ปฏิบัติได้ไม่ยาก หากจะเป็นการช่วยลดอัตราของผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ในปัจจุบันได้

..โควิด-19 ต้องหมดไป เราเชื่ออย่างนั้น..

.

รายการอ้างอิง

1. วันที่ไทยรู้จัก COVID-19. [ออนไลน์]. มีนาคม, 2563. [อ้างถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2564]. เข้าถึงจาก: https://news.thaipbs.or.th/content/290347
2. โควิด-19 : สธ. ประกาศการระบาดระลอกใหม่ในไทย ผู้ติดเชื้อจากกรณีสมุทรสาครเกือบ 700 รายใน 3 วัน. [ออนไลน์]. ธันวาคม, 2563. [อ้างถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2564]. เข้าถึงจาก: https://www.bbc.com/thai/thailand-55383363
3. โควิดระลอก 3 หนักหน่วงเสี่ยงแพร่ง่ายเสียชีวิตเร็ว. [ออนไลน์]. พฤษภาคม, 2564. [อ้างถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2564]. เข้าถึงจาก: https://www.thairath.co.th/news/local/2083736
4. วัคซีนโควิด 19 ประเทศไทย. [ออนไลน์]. มิถุนายน, 2564. [อ้างถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2564]. เข้าถึงจาก: https://ddc.moph.go.th/uploads/ckeditor2//files/Daily%20report%202021-06-27.pdf
5. สวมหน้ากากถูกวิธียึดหลัก D-M-H-T-T-A ป้องกันโควิด. [ออนไลน์]. เมษายน, 2564. [อ้างถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2564]. เข้าถึงจาก: https://www.innnews.co.th/news/news-general/news_86094