คำตอบ

จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับบัวบกพบว่า มีฤทธิ์ในการบำรุงสมอง เพิ่มความสามารถในการจำและการเรียนรู้ โดยจากการทดลองในสัตว์ทดลองพบว่า บัวบกทำให้ลูกหนูมีความจำและความสามารถในการเรียนรู้ดีขึ้น ทำให้เซลล์สมองของหนูแรกเกิดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความฉลาดมีพัฒนาการดีกว่าหนูในกลุ่มควบคุม ทำให้ปฏิภาณไหวพริบในการหลบหลีกสิ่งกีดขวางของหนูดีขึ้น บัวบกยังเพิ่มสมาธิและความสามารถในการตัดสินใจเฉพาะหน้าในหนู
 การศึกษาในมนุษย์พบว่า บัวบกทำให้เด็กพิเศษที่กินบัวบกวันละ 500 มิลลิกรัมติดต่อกัน 3 เดือน มีความสามารถเรียนรู้ได้ดีกว่ากลุ่มควบคุม นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเพิ่มความจำในผู้สูงอายุ ใช้สารสกัดบัวบก 750 มิลลิกรัมต่อวัน นาน 2 เดือน พบว่า ความจำการเรียนรู้ และอารมณ์ของคนสูงอายุดีขึ้นกว่าเดิม นอกจากนี้มีการวิจัยในผู้หญิงอายุเฉลี่ย 33 ปี โดยได้รับสารสกัดบัวบก 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง พบว่าช่วยลดความผิดปกติที่เกิดจากความกังวล ลดความเครียดและการซึมเศร้า
 ส่วนการศึกษาในระดับเซลล์ถึงกลไกการออกฤทธิ์บำรุงสมองพบว่า บัวบกทำให้การหายใจในระดับเซลล์ของสมองดีขึ้น ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการเสื่อมของเซลล์สมอง คงสภาพปริมาณของสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า อะเซทิลโคลีน (acetylchloline) ซึ่งจำเป็นต่อการทำงานของสมอง เสริมฤทธิ์การทำงานของสารกาบา (GABA) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่รักษาสมดุลของจิตใจ ทำให้ผ่อนคลายและหลับได้ง่าย นอกจากนี้ บัวบกยังทำให้หลอดเลือดมีความแข็งแรงและสามารถนำเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

รายชื่อเอกสารที่เกี่ยวข้อง

สุภาภรณ์ ปิติพร.  “บัวบก สมองสดใส คืนสู่วัย หนุ่มสาว”.  หมอชาวบ้าน.  ปีที่ 33, (พฤศจิกายน), 2554, หน้า 13-15.