อัตราการเติบโตของธุรกิจขนมขบเคี้ยวปี 2564 จะมีมูลค่าตลาดราว 37,500 ล้านบาท หดตัว 4.0% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ขยายตัวราว 2.6% เนื่องจากสถานการณ์โควิค-19 ในประเทศที่ยังยืดเยื้อและต้องใช้เวลากว่าจะคลี่คลาย ทำให้ผู้บริโภคต้องประหยัดและใช้จ่ายอย่างระวัง และด้วยสินค้ากลุ่มขนมขบเคี้ยวมีความจำเป็นต่อการบริโภคน้อยกว่ากลุ่มอาหารหลักอื่นๆ ทำให้การบริโภคเติบโตอย่างจำกัด ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ โดยเฉพาะธัญพืช น้ำมันพืช และน้ำตาล ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยราว 20-30% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด มีแนวโน้มยืนตัวในระดับสูงในช่วงครึ่งหลังปี 2564 ซึ่งการปรับขึ้นของราคาวัตถุดิบนี้ ยากที่ผู้ประกอบการจะผลักภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นไปสู่ผู้บริโภคได้ เพราะจะส่งผลโดยตรงต่อความสามารถด้านการแข่งขัน ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงจำเป็นต้องแบกรับภาระต้นทุนดังกล่าวไว้ และหันมาบริหารจัดการต้นทุนการผลิตทดแทน

       ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงและกำลังซื้อผู้บริโภคที่มีจำกัด กลยุทธ์ด้านการตลาดโดยเฉพาะราคายังมีความจำเป็น ในขณะเดียวกัน การที่ผู้บริโภคหันมาเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น และความผันผวนของวัตถุดิบที่กระทบต่อต้นทุนการผลิต จะเป็นโจทย์สำคัญต่อการบริหารต้นทุนของผู้ประกอบการ ทั้งในช่วงที่ราคาวัตถุดิบผันผวน เช่น การวางแผนใช้วัตถุดิบให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเน้นกลุ่มที่ยังพอทำตลาดได้ในช่วงวิกฤต ปรับขนาดสินค้าลงเพื่อตรึงราคาไว้ หรือการปรับลดกำไรของธุรกิจ เพื่อคงไว้ซึ่งความสามารถด้านการแข่งขัน ตลอดจนคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อสอดรับกับเทรนด์การบริโภคที่หันมาใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้น อาทิ เลือกใช้วัตถุดิบที่ให้คุณค่าทางโภชนาการ และปรับลดสัดส่วนวัตถุดิบที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับร่างกาย

ที่มา : foodfocusthailand