อ่านประมวลสารสนเทศพร้อมใช้ฉบับเต็มที่นี่ >> 

บทคัดย่อ :
ปูนซีเมนต์ในประเทศไทยเริ่มผลิตใช้เองภายในประเทศเป็นครั้งแรก ด้วยพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เพื่อให้สามารถลดการนำเข้าปูนซีเมนต์จากต่างประเทศ จัดสรรการใช้ทรัพยากรภายในประเทศอย่างคุ้มค่า และช่วยนำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าในอนาคต จึงได้มีการก่อตั้งโรงปูนแห่งแรกขึ้นในนาม บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (โรงปูนบางซื่อ) การผลิตปูนซีเมนต์จำเป็นต้องใช้เงินทุนในการผลิตสูง เนื่องจากใช้เครื่องจักรใหญ่ในการผลิตเป็นหลัก กรรมวิธีการผลิตสามารถจำแนกได้ 2 วิธีได้แก่ กรรมวิธีการผลิตแบบเปียก และกรรมวิธีการผลิตแบบแห้ง ปูนซีเมนต์ที่ได้จะมีลักษณะผงละเอียด สามารถเกิดการก่อตัวและการแข็งตัวได้ด้วยการทำปฏิกิริยากับน้ำซึ่งเรียกว่า “ปฏิกิริยาไฮเดรชั่น” (Hydration Reaction) ทำให้มีคุณสมบัติในการรับแรงได้ ปูนซีเมนต์เป็นวัสดุประสานที่ให้กำลังแก่คอนกรีต ที่ใช้มากที่สุดในปัจจุบันคือ ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ชนิดของปูนซีเมนต์สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภทด้วยกัน โดยแบ่งตามลักษณะการใช้งานที่มีความพิเศษเฉพาะด้าน ผู้ใช้งานจึงจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในประเภทของปูนซีเมนต์ เพื่อเลือกนำไปใช้ได้อย่างเหมาะสม มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบปูนซีเมนต์จะมีการตรวจสอบตั้งแต่เป็นวัตถุดิบ ไปจนถึงการตรวจสอบในรูปของผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์ มาตรฐานการทดสอบ เช่น มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ของประเทศไทย, American Society for Testing and Materials (ASTM) ของประเทศอเมริกา เป็นต้น