ชื่อเรื่อง : การใช้ของเสียที่เป็นแก้วเป็นวัตถุดิบในการผลิตกระเบื้องเซรามิก

ผู้แต่ง : เพ็ชรพร เชาวกิจเจริญ และ วิวรรธน์ เทียนศิริ

แหล่งข้อมูล : THAI ENVIRONMENTAL ENGINEERING JOURNAL 19 (1) (ม.ค.-เม.ย. 2548) ; 103-112

บทคัดย่อ (อังกฤษ) : -

บทคัดย่อ (ไทย) : งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการนำของเสียที่เป็นแก้ว ประเภทขวดแก้วสีชาที่ใช้แล้วมาใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อทดแทนแร่เฟลด์สปาร์ ซึ่งเป็นตัวหลอมละลายในผลิตภัณฑ์เซรามิก โดยงานวิจัยนี้ใช้ส่วนผสมอัตราส่วนดินดำต่อแร่เฟลด์สปาร์เท่ากับ 8 ต่อ 5 ซึ่งคิดเป็น 60% ของส่วนผสมทั้งหมด รวมกับทรายแก้วอบแห้ง 40% โดยแปรค่าอัตราส่วนการทดแทนแร่เฟลด์สปาร์ด้วยขวดแก้วสีชาที่ผ่านการบดละเอียดขนาด 200 เมช (ประมาณ 0.10 มิลลิเมตร) เป็น 0% 25% 50% 75% และ 100% ของแร่เฟลด์สปาร์ที่ใช้ในส่วนผสม ขึ้นรูปเป็นแผ่นกระเบื้องขนาด 4X4 นิ้ว และแปรค่าอุณหภูมิที่ใช้ในงานวิจัยโดยเผาที่อุณหภูมิ 1000 1100 และ 1200 องศาเซลเซียส ทดสอบคุณภาพในด้านกำลังรับแรงดัด ค่าการหดตัวหลังการเผา ค่าการดูดซึมน้ำ การทนสารเคมีและการทนการราน ผลการวิจัยพบว่าขวดแก้วสีชาสามารถทดแทนแร่เฟลด์สปาร์ได้ 100% โดยส่วนผสมที่เหมาะสมในงานวิจัยและด้านเศรษฐศาสตร์ คือ ส่วนผสมที่ใช้ขวดแก้วสีชาทดแทนแร่เฟลด์สปาร์ได้ 100%  ผ่านการเผาที่อุณหภูมิ 1100 องศาเซลเซียส ซึ่งมีคุณสมบัติในด้านกำลังรับแรงดัดเท่ากับ 24.55 เมกกะปาสคาล ค่าการหดตัวหลังการเผาเท่ากับ 5.08% ค่าการดูดซึมน้ำเท่ากับ 13.77% มีความสามารถทนสารเคมีและทนการรานได้ การวิเคราะห์เฟสที่เกิดขึ้นด้วยวิธี X-Ray Diffraction (XRD) พบเฟสของมัลไลท์ (3Al2O3.2SiO2) ซึ่งเป็นส่วนที่ให้ความแข็งแรงสูงในผลิตภัณฑ์เซรามิก โดยปกติจะพบเฟสนี้ที่อุณหภูมิสูงเกินกว่า 1200 องศาเซลเซียส ค่าใช้จ่ายเบื้องต้นเท่ากับ 8.30 บาท/แผ่น ดังนั้นทำให้ได้ข้อสรุปว่า นอกจากขวดแก้วสีชาจะทดแทนแร่เฟลด์สปาร์ได้แล้วยังสามารถลดอุณหภูมิในการเผา สามารถประหยัดพลังงานในการผลิตและลดปริมาณของเสียที่เป็นแก้วอีกทางหนึ่งด้วย และหากนำไปพัฒนาในภาคอุตสาหกรรม เช่น นำไปเคลือบด้วยน้ำยาเคลือบก็จะสามารถนำมาใช้เป็นกระเบื้องเซรามิกได้เป็นอย่างดี

ชนิดวัสดุเหลือใช้ : Glass

ประเภทเอกสาร : Journal

หมายเหตุ : ขอสำเนาเอกสารฉบับเต็มได้ที่ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. โทร. 0-2201-7252