“คาเรน อูห์เลนเบค” นักคณิตศาสตร์อเมริกันรับรางวัล “เอเบิลไพร์ซ” รางวัลเชิดชูเกียรติสายคณิตศาสตร์ที่ได้รับการยกย่องว่าเทียบเท่ารางวัลโนเบล และยังเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้

“คาเรน อูห์เลนเบค” (Karen Uhlenbeck) ได้รับรางวัลเอเบิลไพร์ซ (Abel Prize) ประจำปี 2019 จากการวิจัยพื้นฐานด้านเรขาคณิตวิเคราะห์และทฤษฎีเกจ (gauge theory) โดยเธอทำงานเกี่ยวกับสมการเชิงอนุพันธ์ย่อย (partial differential equations)
ฮันส์ มุนเต-คาส (Hans Munthe-Kaas) ประธานคณะกรรมการรางวัลเอเบิล กล่าวระหว่างแถลงผลรางวัลว่า งานพื้นฐานของอูห์เลนเบคนั้น ได้เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของคณิตศาสตร์ไปอย่างมหาศาล
“ทฤษฎีของเธอได้ปฏิวัติความเข้าใจของเราเกี่ยวกับพื้นิวขนาดเล็ก อย่างพื้นผิวของฟองสบู่ และทำให้เราเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับปัญหาทั่วไปที่ต้องการคำตอบเป็นค่าน้อยที่สุด (general minimization problems) ในมิติที่มีค่าสูงกว่า (higher dimensions)” ประธานคณะกรรมการรางวัลระบุ
ทางด้านสภาวิทยาศาสตร์และวรรณกรรมนอร์เวย์ (Norwegian Academy of Science and Letters) ระบุว่า อูห์เลนเบคได้พัฒนาเครื่องมือและวิธีการสำหรับการวิเคราะห์ระดับสากล ซึ่งตอนนี้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องที่นักเรขาคณิตและนักวิเคราะห์ต้องใช้
ทั้งนี้ อูห์เลนเบค เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ พร้อมเช็คเงินรางวัลมูลค่า 620,000 ยูโร หรือ 703,000 เหรียญสหรัฐฯ อีกทั้งเธอยังเป็นผู้ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในวงการวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ด้วย
“ฉันตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ฉันคือต้นแบบสำหรับผู้หญิงรุ่นเยาว์ในเรื่องคณิตศาสตร์ มันยากที่จะเป็นต้นแบบ ทว่า เพราะสิ่งที่คุณจำเป็นต้องทำจริงๆ คือแสดงให้นักศึกษาได้เห็นว่า คนที่ไม่สมบูรณ์แบบนั้นยังประสบความสำเร็จได้อย่างไร ฉันอาจจะเป็นนักคณิตศาสตร์ที่น่าทึ่ง และมีชื่อเสียงจากคณิตศาสตร์ แต่ขณธเดียวกัน ฉันก็เป็นแค่คนๆ หนึ่ง” อูห์เลนเบคกล่าว
ตอนนี้อูห์เลนเบคอายุ 76 ปีแล้ว และเป็นนักวิชาการวิจัยอาวุโสพิเศษที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University) และยังเป็นรองศาสตราจารย์พิเศษที่สถาบันเพื่อการศึกษาประยุกต์ (Institute for Advanced Study: IAS) ในสหรัฐฯ ทั้งสองสถาบัน
จากรางวัลที่ได้รับนี้ทำให้อูห์เลนเบคเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้หญิงกลุ่มเล็กๆ ที่ได้รับรางวัลทางด้านวิทยาศาสตร์ โดยในจำนวนผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ สาขาเคมีหรือสาขาสรีรศาสตร์และการแพทย์จำนวน 607 คน ระหว่างปี ค.ศ.1901-2018 นั้น มีผู้หญิงเพียง 19 คนเท่านั้น โดย มารี คูรี (Marie Curie) เป็นผู้หญิงคนเดียวที่ได้รับถึง 2 ครั้ง โดยได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์และสาขาเคมี
นอกจากนี้ยังมีผู้หญิงเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลใหญ่ทางด้านคณิตศาสตร์ระดับนานาชาติอีกรางวัล คือรางวัลฟิล์ดมีดัล (Fields Medal) นั่นคือ มัรยัม มีร์ซาคอนี (Maryam Mirzakhani) จากอิหร่าน ที่ได้รับรางวัลดังกล่าวเมื่อปี ค.ศ.2014 และเธอได้เสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ.2017
ทางด้าน อลิช ฉาง ซุน-ยุง (Alice Chang Sun-Yung) นักคณิตศาสตร์พรินซ์ตัน และสมาชิกคณะกรรมการรางวัลเอเบิล กล่าวว่า ผู้หญิงยังค่อนข้างเป็น “หน้าใหม่” สำหรับวงการนักวิจัยคณิตศาสตร์ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าที่ผู้หญิงจะได้รับรางวัลระดับสูง อีกทั้งยังต้องมีผู้หญิงใน “จำนวนวิกฤต” ไม่ใช่เพียงคนโดดเด่นไม่กี่คนในวงการคณิตศาสตร์ เพื่อให้เกิดการยอมรับว่า ผู้หญิงนั้นมีความสามารถในคณิตศาสตร์เทียบเท่าผู้ชาย
“แต่กระแสการเปลี่ยนแปลงกำลังมาและกำลังอยู่ในสายลม” ซุน-ยุงกล่าว พร้อมยกตัวอย่าง อูห์เลนเบคและ แคลร์ วอยซิน (Claire Voisin) ที่ได้รับรางวัลชอว์ไพร์ซ (Shaw Prize) ทางด้านวิทยาศาสตร์เมื่อปี ค.ศ.2017
สำหรับรางวัลเอเบิลไพร์ซเป็นรางวัลที่ได้ตั้งชื่อตามนักคณิตศาสตร์นอร์เวย์นามว่า นีลส์ เฮนริก เอเบิล (Niels Henrik Abel) โดยรางวัลนี้ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลออสโลเมื่อปี 2002 และมีการมอบรางวัลในปีถัดมา เพื่อเชิดชูเกียรติผลงานวิทยาศาสตร์ในสาขาคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นงานวิทยาศาสตร์ที่ไม่รวมอยู่ในรงวัลโนเบล
นอกจากรางวัลทางด้านคณิตศาสตร์อย่างฟิล์ดมีดัลที่มอบรางวัลกันทุกๆ 4 ปี ณ สภาสหพันธ์คณิตศาสตร์นานาชาติ (International Mathematical Union (IMU) แล้ว รางวัลเอเบิลไพร์ซก็เป็นอีกรางวัลอันทรงเกียรติระดับโลกสำหรับสาขาคณิตศาสตร์

ที่มา : Manager online 21 มีนาคม 2562 [https://mgronline.com/science/detail/9620000028176]