ครั้งแรกของโลก นักวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เพาะปะการังโต๊ะแบบพุ่มจากสเปิร์มแช่เยือกแข็ง ลดเสี่ยงปะการังสูญพันธุ์ เพิ่มทางรอดให้อนาคตปะการังและสิ่งแวดล้อมทางทะเลไทยคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองทัพเรือ จัดงานแถลงข่าวเรื่อง “ครั้งแรก ของโลก…นักวิทย์ไทยเพาะปะการังชนิดโต๊ะแบบพุ่มด้วยสเปิร์มแช่เยือกแข็ง” เมื่อวันที่ 24 เม.ย.62

การแถลงข่าวครั้งนี้มี รองศาสตราจารย์ ผุสตี ปริยานนท์ ที่ปรึกษาจากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ นาวาเอกทินกร กาญจนเตมีย์ รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ ศาสตราจารย์ ดร.พลกฤษณ์ แสงวณิช คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ รองศาสตราจารย์ ดร.ทวีวงศ์ ศรีบุรี กรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ รองศาสตราจารย์ ดร.วรณพ วิยกาญจน์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และ รองศาสตราจารย์ ดร. สุชนา ชวนิชย์ รองกรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เข้าร่วมแถลงข่าวที่ห้องประชุม 217 อาคารเคมี 2 คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รองศาสตราจารย์ ดร.วรณพ วิยกาญจน์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการที่ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยกลุ่มการวิจัยชีววิทยาแนวปะการัง ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศในปี 2549 ในการเพาะขยายพันธุ์ปะการังที่มาจากการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ โดยนำไข่และสเปิร์มของปะการังมาผสมในระบบเพาะฟัก (การผสมเทียม) กลุ่มการวิจัยฯ ได้เฝ้าติดตามผลการนำตัวอ่อนปะการังที่ผลิตได้จากการเพาะขยายพันธุ์ด้วยวิธีดังกล่าวในแต่ละปีมาศึกษาระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการอนุบาลตัวอ่อนปะการังภายในระบบเลี้ยงก่อนที่จะนำกลับคืนถิ่นสู่ทะเล โดยมุ่งหวังให้ตัวอ่อนปะการังเหล่านั้นมีการเติบโตและมีอัตรารอดสูงสุด
“กลุ่มการวิจัยชีววิทยาแนวปะการัง ได้มีการทำวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาเทคนิคการเพาะพันธุ์ปะการังแบบอาศัยเพศ เพื่อหาแนวทางในการอนุรักษ์และฟื้นฟูปะการังที่เสื่อมโทรมภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมของโลก ซึ่งจากการศึกษาทำวิจัยอย่างต่อเนื่อง ในปีที่แล้ว กลุ่มการวิจัยชีววิทยาแนวปะการัง ได้ประสบความสำเร็จในการนำสเปิร์มของปะการังโต๊ะแบบพุ่ม Acropora humilis มาผ่านกรรมวิธีการแช่เยือกแข็งในไนโตรเจนเหลว และนำกลับมาผสมใหม่กับไข่ปะการัง ซึ่งเป็นการทำสำเร็จครั้งแรกของโลกของปะการังโต๊ะชนิดนี้ และได้มีการตีพิมพ์ลงในวารสารวิจัยระดับนานาชาติแล้ว”
รศ.ดร.วรณพ กล่าวว่างานวิจัยดังกล่าวเป็นการทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยชาวไต้หวันด้วย ความสำเร็จของการนำสเปิร์มของปะการังมาผ่านกรรมวิธีการแช่เยือกแข็งนั้น จะช่วยทำให้สามารถเก็บรักษาสเปิร์มได้นานขึ้น และสามารถนำมาผสมกับไข่ปะการังได้ใหม่ในช่วงเวลาและฤดูกาลที่ต้องการและเหมาะสมต่อไป
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ รองกรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปะการังโดยทั่วไปมีการผสมพันธุ์แบบอาศัยเพศเพียงปีละครั้ง โดยที่ส่วนใหญ่เป็นการปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ (ไข่และสเปิร์ม) ออกมาผสมกันในมวลน้ำ ซึ่งกลุ่มการวิจัยฯ ได้นำหลักการดังกล่าวมาใช้ในการเพาะขยายพันธุ์ปะการังแบบอาศัยเพศ โดยเก็บเซลล์สืบพันธุ์ปะการังที่ถูกปล่อยออกมาตามธรรมชาติ แล้วนำไปปฏิสนธิโดยการผสมเทียมเพื่อเพาะฟักในระบบเพาะฟักปะการัง
“นอกจากนี้การนำเทคนิคใหม่มาใช้โดยการเก็บสเปิร์มโดยการแช่เยือกแข็งนั้น จะทำให้สามารถผสมพันธุ์ปะการังได้ปีละหลายครั้งเพิ่มขึ้น รวมทั้งเป็นการป้องกันการสูญพันธุ์ของปะการังอีกด้วย เนื่องจากในปัจจุบัน อุณหภูมิของโลกได้สูงขึ้น ทำให้ปะการังหลายชนิดไม่สามารถปล่อยเซลล์สืบพันธุ์และผสมกันตามธรรมชาติเองได้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น การผสมเทียม รวมทั้งการนำเทคนิคการเก็บสเปิร์มโดยการแช่เยือกแข็งมาใช้ จะสามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้” รศ.ดร.สุชนา กล่าว
ทั้งนี้ โดยปกติอัตรารอดของปะการังที่มาจากการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศตามธรรมชาติมีค่าประมาณ ร้อยละ 0.01 หรือต่ำกว่า ขณะที่ในการเพาะขยายพันธุ์ปะการังแบบอาศัยเพศด้วยวิธีการผสมเทียมดังกว่า มีอัตราการปฏิสนธิของปะการังสูงกว่าร้อยละ 98 และมีอัตรารอดขณะทำการอนุบาลในระบบเลี้ยงจนมีอายุประมาณ 2 ปี ที่ร้อยละ 40–50
สำหรับโครงการการเพาะขยายพันธุ์ปะการังแบบอาศัยเพศแบบผสมเทียมและการเก็บสเปิร์มโดยการแช่เยือกแข็ง ของกลุ่มการวิจัยชีววิทยาแนวปะการัง มี รองศาสตราจารย์ ดร.วรณพ วิยกาญจน์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองศาสตราจารย์ ดร. สุชนา ชวนิชย์ เป็นผู้รับผิดชอบและดำเนินการโครงการ โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจาก หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ ภายใต้ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สนองพระราชดำริโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจนถึงปัจจุบัน
โครงการฯ ยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการจากหลายฝ่าย ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ รวมถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่สำคัญโครงการฯ สามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจของนิสิตและผู้ช่วยวิจัยทุกคนจากกลุ่มการวิจัยชีววิทยาแนวปะการัง ทั้งที่สำเร็จการศึกษาแล้ว รวมถึงผู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษาทุกระดับ ทั้งปริญญาตรี โท และ เอก ร่วม 50 ชีวิต และปัจจุบัน กลุ่มการวิจัยฯ ได้ให้ความร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในการนำวิธีการเพาะขยายพันธุ์ปะการังแบบอาศัยเพศเป็นอีกวิธีการหนึ่งในการฟื้นฟูแนวปะการังในประเทศไทย
จากความสำเร็จของงานวิจัยการเพาะขยายพันธุ์ปะการังที่มาจากการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ โดยนำไข่และสเปิร์มของปะการังมาผสมในระบบเพาะฟัก (การผสมเทียม) ที่ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศในปี 2549 นั้น ผลการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ตัวอ่อนปะการังที่ได้จากพ่อแม่พันธุ์ในพื้นที่หมู่เกาะแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ควรทำการอนุบาลภายในระบบเลี้ยงเป็นเวลาประมาณ 2 ปี ก่อนนำกลับคืนถิ่นสู่ทะเลเกิด และในปี 2556 ความหวังที่จะได้เห็นปะการังที่เพาะขยายพันธุ์เหล่านั้นสามารถสืบเผ่าพันธุ์ด้วยตัวของตัวเองได้ก็เริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้น
ตัวอ่อนปะการังเขากวาง Acropora humilis จำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นรุ่นที่เพาะฟักในช่วงปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 ที่อนุบาลในระบบเลี้ยงจนมีอายุประมาณ 2 ปี แล้วจึงนำกลับคืนถิ่นสู่ทะเลบริเวณชายฝั่งทะเลเขาหมาจอ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ในเดือนมีนาคม พ.ศ.2553 ซึ่งเป็นระยะเวลาเพียง 3 ปี ที่ปะการังเหล่าอยู่ในทะเลและพัฒนาสร้างเซลล์สืบพันธุ์ขึ้น ซึ่งเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า ตัวอ่อนปะการังที่ได้จากการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ และนำมาปฏิสนธิโดยการผสมเทียมในระบบเพาะฟักที่ได้ปะการังรุ่นลูก (F1) นั้น มีความสามารถในการผลิตปะการังรุ่นหลาน (F2) ได้ด้วยตนเอง อีกทั้งยังบ่งชี้ว่า ปะการังที่มีอายุเพียง 5 ปีหลังการเพาะฟัก สามารถพัฒนาสร้างเซลล์สืบพันธุ์ได้ และไม่ปรากฏมีการศึกษาเกี่ยวกับปะการังใดๆ ที่มีรายงานการสร้างเซลล์สืบพันธุ์ในปะการังที่มีอายุน้อยเช่นนี้

ที่มา :  ที่มา Manager online 24 เมษายน 2562  [https://mgronline.com/science/detail/9620000039900]