อภ.จับมือกรมการแพทย์ ผลิต "น้ำมันกัญชา" ใช้ในคลินิกรักษาผู้ป่วยลมชัก แพ้คีโม พร้อมวิจัยสารสกัดกัญชายับยั้ง-ทำลาย 4 เซลล์มะเร็งที่พบมากในคนไทย วิจัยเกี่ยวกับโรคผิวหนังทางพันธุกรรม เผยปลูกระยะที่ 2 เพิ่มกำลังผลิตได้อีก 8 เท่า เป็น 8 หมื่นขวดต่อปี

วันนี้ (30 พ.ค.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ระหว่างกรมการแพทย์และ อภ. โดยมี นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) เป็นประธาน
นพ.โสภณ กล่าวว่า สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ของ อภ.น่าจะได้ในช่วงปลาย ก.ค. - ต้น ส.ค. หาก อภ. และกรมการแพทย์ร่วมมือกันพัฒนาระบบ นำสารสกัดกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ จะเกิดประโยชน์กับประชาชน โดยเบื้องต้นต้องดูว่า กรมการแพทย์ต้องการสารสกัดชนิดใดและไปรักษาในโรคใด อภ.ก็จะผลิตให้ตามความต้องการ โดยเน้นความปลอดภัย ไม่มีการปนเปื้อน มีคุณภาพ และมีความคงตัวในแต่ละล็อตผลิต และจะร่วมมือศึกษาความคงสภาพ รวมถึงการจัดการทางการแพทย์ด้วยเทคนิคต่างๆ ด้วย ทั้งนี้ กัญชามีสารออกฤทธิ์ยับยั้ง กระตุ้น ช่วยปรับสภาวะสมดุลของระบบประสาท ฮอร์โมนภูมิคุ้มกัน และระบบอื่นๆ ของร่างกาย เพื่อให้การใช้กัญชาทางการแพทย์ให้มีประสิทธิผลประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษาบรรเทาอาการได้
นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า อภ.ปลูกและสกัดน้ำมันกัญชาชนิดหยดใต้ลิ้น 3 สูตร คือ สูตรทีเอชซีสูง สูตรซีบีดีสูง และสูตรทีเอชซีต่อซีบีดีเท่ากัน 1 ต่อ 1 สำหรับน้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้น ขนาด 5 มิลลิลิตร คาดว่า ก.ค.นี้จะได้ 2,500 ขวด การปลูกกัญชา 1 ปี จะผลิตได้ 4 รอบ รอบละ 2,500 ขวด แต่ขยายการปลูกระยะที่ 2 บนพื้นที่ 1 พันไร่ ซึ่งจะเพิ่มกำลังการผลิตสารสกัดกัญชาได้ถึง 8 เท่า นอกจากนี้ ยังมีแผนรับซื้อกัญชาแห้งจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ร่วมกันปลูกกัญชาที่ได้มาตรฐานตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนด ซึ่งยังไม่รู้ปริมาณที่ชัดเจน ส่วนการนำเข้ากัญชาจากต่างประเทศจะเป็นมาตรการสุดท้าย กรณีที่มีความต้องการมากจริงๆ เพราะในจำนวนผู้ที่เข้าร่วมลงทะเบียนนิรโทษกรรมจำนวนหนึ่งต้องการใช้ แต่ก็ต้องยอมรับว่ากัญชาสายพันธุ์ไทยมีสารทีเอชซีสูงกว่าซีบีดีถึง 8 เท่า ซึ่งยังไม่เหมาะกับการใช้ จึงไม่ตอบโจทย์การใช้ได้อย่างเพียงพอ ต้องมีการนำเข้า แต่ก็ต้องหาข้อมูลให้ดี
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนที่มีความจำเป็นต้องใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์กำลังรอสารสกัดที่ได้มาตรฐาน และทางกรมการแพทย์ก็อยากได้สารสกัดที่ได้มาตรฐานไม่มีสารปนเปื้อน โดยได้มีการเขียนโครงการว่าอยากให้ อภ.มาช่วยสนับสนุนทางคลินิก ใน 2-3 โรค โดยเน้น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ได้ประโยชน์มี 4 กลุ่มอาการ กลุ่มที่ 2 ดูแล้วน่าจะได้ประโยชน์ซึ่งมีการตั้งไว้ประมาณ 6-7 โรค และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่อาจจะได้ประโยชน์ เช่น โรคมะเร็ง ซึ่งแต่ละกลุ่มจะไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ขอย้ำว่าสารสกัดกัญชาอย่างไรก็ไม่ใช่ทางเลือกแรกในการรักษา ต้องรักษาตามมาตรฐานมาก่อน โดยเบื้องต้นจะมีการศึกษา เช่น โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรควิตกกังวล ผู้ป่วยที่ต้องดูแลแบบประคับประคอง ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย เป็นต้น
นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ ผอ.การสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ กล่าวว่า สำหรับการนำสารสกัดกัญชามาใช้นั้น ส่วนหนึ่งเพื่อผู้ป่วย และอีกส่วนเพื่อการวิจัย โดยมีทั้งโรคลมชัก ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ทั้งที่เป็นมะเร็ง และไม่เป็นมะเร็ง การวิจัยเกี่ยวกับกัญชารักษามะเร็งได้หรือไม่ รวมถึงวิจัยเกี่ยวกับโรคผิวหนังด้วย
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ในกลุ่มที่สารสกัดกัญชาอาจมีประโยชน์ในการรักษา เช่น โรคมะเร็ง เป็นต้น สถาบันมะเร็งฯ จึงเตรียมนำสารสกัดน้ำมันกัญชาที่ได้จาก อภ.มาศึกษาประสิทธิภาพในการยับยั้งเซลล์มะเร็ง ทำลายเซลล์มะเร็งชนิดต่างๆ ได้หรือไม่ โดยมี นพ.สมชาย ธนะสิทธิชัย รองผอ. สถาบันมะเร็งฯ เป็นหัวหน้าทีมวิจัย ซึ่งจะเน้นโรคมะเร็งที่พบมากในประเทศไทย คือ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก ภายใน ส.ค.จะเริ่มทดลองในระดับเซลล์ ซึ่งจะจำแนกเซลล์มะเร็งแต่ละชนิด และนำการหยอดสารสกัดน้ำมันกัญชาเพื่อดูว่ามีการตอบสนองหรือไม่ หากมีการตอบสนองก็จะมีการเดินหน้าศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลองและในมนุษย์จำนวน 20 ราย พร้อมกันไปเลยเพื่อไม่ให้ช้าเกินไป หากได้ผลถึงจะมีการขยายไปยัง รพ.มะเร็งอื่นๆ ต่อไป
“ตอนนี้ยังไม่มีการนำกัญชามาใช้รักษามะเร็ง แต่ยอมรับว่ามี ผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่เข้าใจอย่างนั้น จนทิ้งการรักษาไปพึ่งสารสกัดน้ำมันกัญชา แต่จากรายงานอย่างไม่เป็นทางการพบว่า มีผู้ป่วยที่กลับเข้ามาหาเราเพื่อรักษาทุกวัน ด้วยอาการซึม ไม่รู้สึกตัว จึงขอเตือนผู้ป่วยให้เข้าใจด้วยว่า นอกจากน้ำมันกัญชาจากใต้ดินที่เราไม่รู้ว่ามีคุณภาพอย่างไร ขนาดซื้อจากเจ้าเดียวกันคุณภาพยังแตกต่างกัน ยังมีประเด็นร่างกายผู้ป่วยแต่ละคนไม่เหมือนกันต้องการสาร ต้องการปริมาณที่แตกต่างกันด้วย จึงเป็นที่มาว่าเราต้องมีการศึกษาเรื่องนี้” นพ.วีรวุฒิ กล่าว
นพ.เวสารัช เวสสโกวิทที่ปรึกษา ผอ.ด้านวิชาการ สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า สำหรับโรคทางผิวหนังนั้นจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มโรคที่พบได้บ่อย และพบได้น้อย อาทิ กลุ่มโรคทางกรรมพันธุ์ โรคเด็กผีเสื้อ ในกรณีเด็กผีเสื้อมีอาการรุนแรงเด็กจะมีอาการปวดมาก ก็จะใช้ในลักษณะคนไข้มีอาการปวดจากโรคเรื้อรัง และกลุ่มโรคกรรมพันธุ์หนังหนา โดยจะใช้เป็นลักษณะครีมทา รวมถึงต่อยอดวิจัยในโรคสะเก็ดเงินด้วย

ที่มา : Manager online 30 พฤษภาคม 2562 [https://mgronline.com/qol/detail/9620000051681]