ไม่กี่ปีมานี้ “ทิชชู่เปียก” เป็นอีกไอเทมติดกระเป๋า ประจำบ้าน คนหันมานิยมใช้เพิ่มขึ้น เหตุเพราะสะดวกต่อการหยิบใช้งาน “แถมใช้ง่ายทิ้งง่าย” ทว่าก่อปัญหาใหญ่ไปทั่วโลกไม่น้อยกว่า “ถุงพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง” เมื่อมันกลายเป็นขยะถูกทิ้งผิดที่ผิดทาง

.

เนื่องจากผ้าเช็ดทำความสะอาด ที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก หรือที่คนไทยเรียกติดปากว่า ทิชชู่เปียก (WetWipes) มีส่วนผสมของพลาสติก ในการใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้งเลยไม่ต่างจาก ถุงพลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง (single-use plastic) พอความมักง่ายในการทิ้งของคน รวมถึงความไม่รู้ เข้าใจผิดคิดไปว่าเหมือนกับ “กระดาษทิชชู่” ซึ่งย่อยสลายได้ไม่ยาก ทำให้คนไม่น้อยทั่วโลกทิ้งลงโถส้วมชักโครกจนทำให้อุดตัน ซึ่งไม่ต่างจากการทิ้งผ้าอนามัยของผู้หญิง

.

ประจวบเหมาะกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เมื่อ 2-3 ปี ยิ่งทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจในความสะอาดมากขึ้น รวมถึงการสนใจเรื่องประสิทธิภาพในการเช็ดถู ที่รู้สึกว่าทำได้ดีกว่ากระดาษทิชชู่ธรรมดา

.

ข้อมูลตลาดทิชชูเปียกในประเทศไทย เมื่อปี 2564 มูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาท พร้อมคาดการณ์ว่าตลาดมีอัตราการเติบโตกว่า 20% จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่จริง ที่มีแบรนด์ต่าง ๆ หันมาผลิตทิชชู่เปียกมากขึ้น

.

แต่จากข้อมูลของสถาบัน EarthWatch จากประเทศอังกฤษ ซึ่งตรวจสอบดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมและการปนเปื้อนของสารพิษได้ออกมาให้ข้อมูลที่ทำให้วงการสิ่งแวดล้อมต้องหันมาตระหนักใส่ใจ ‘ทิชชู่เปียก’ อย่างจริงจัง เมื่อค้นพบว่าทิชชู่เปียกกว่า 93% กลายเป็นขยะในท่อระบายน้ำ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ นั่นแสดงถึงความเข้าใจผิดคิดว่าใช้ได้เหมือนกับกระดาษทิชชู่ทั่วไป

.

แต่ความเป็นจริง ทิชชู่เปียก ในท้องตลาดส่วนใหญ่มีส่วนผสมของเส้นใยพลาสติกซึ่งต้องใช้เวลาถึง 100 ปีสำหรับการย่อยสลายหมด ซึ่งนานไม่น้อยหน้าพลาสติกอื่นๆ ทำให้กระบวนการจัดการทิชชู่เปียกเพื่อไม่ให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมถูกหยิบยกเป็นเรื่องที่นักอนุรักษ์ทั่วโลกให้ความสำคัญตลอดช่วงหลายปีมานี้
ด้านส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ทิชชู่เปียก ผลิตจากเส้นใยพลาสติกประเภทโพลิเอสเตอร์ (Polyester) หรือโพลิโพรพิลีน (Polypropylene) และผ่านกระบวนการทางเคมี เพื่อความเหนียวในการใช้งาน ส่งผลให้ใช้เวลาย่อยสลายนาน หรือแทบไม่ย่อยสลายเลยนั่นเอง

.

จึงถูกหยิบมาเปรียบว่าการใช้ทิชชู่เปียกก็เสมือนกับการใช้ถุงพลาสติกครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งใช้ระยะเวลานานในการย่อยสลาย คือนานถึงกว่าชั่วอายุของมนุษย์เหมือนกัน คือ เป็นหลัก 100 ปี
🔹 พลาสติก ใช้เวลาย่อยสลายถึง 450 ปี
🔹 ทิชชู่เปียก ใช้เวลาย่อยสลายถึง 100 ปี

.

ไม่ย่อยสลายเมื่อเข้าไปสู่ท่อน้ำทิ้ง

นักสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลพร้อมคำแนะนำว่า ทิชชู่เปียกไม่เสื่อมสภาพระหว่างทำการชะล้าง และยังไม่ย่อยสลายเมื่อเข้าไปสู่ท่อน้ำทิ้ง จึงทำให้ท่ออุดตัน และเมื่อทิชชู่เปียกตกลงสู่มหาสมุทร พวกมันจะถูกกินโดยสัตว์ทะเล เช่น เต่า ซึ่งพวกมันมักเข้าใจผิดคิดว่าเป็นแมงกะพรุนและตายในที่สุด

.

“ถึงแม้ว่าคุณทิ้งขยะทิชชู่เปียก อย่างถูกต้อง พวกมันก็จะจบลงด้วยการฝังกลบ แต่ตัวเลือกที่ดีกว่า คือการหลีกเลี่ยงการใช้ทิชชู่เปียกตั้งแต่แรก”

.

ด้านเพจเฟซบุ๊ค Greenery เผยทริกดี ๆ ที่จะทำให้ชีวิตสะอาดแบบสะดวก ไม่แพ้การใช้ทิชชู่เปียก

.

1. สเปรย์ฉีดฝาชักโครก
ผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคพบว่าทิชชู่เปียกมักถูกใช้เช็ดทำความสะอาดในห้องน้ำ โดยเฉพาะฝาชักโครก และหลาย ๆ ครั้งก็ถูกทิ้งลงชักโครกจนทำให้ท่อน้ำอุดตัน ทางออกในเรื่องนี้อาจคือการใช้สเปรย์ทำความสะอาดฝาชักโครกโดยเฉพาะและใช้กระดาษทิชชู่เช็ดอีกรอบก่อนทิ้งลงถังขยะ เท่านี้ก็เรียบร้อย

2. คอลเล็กชั่นผ้าเช็ดหน้าสุดเก๋
ผ้าเช็ดหน้าเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรกับทั้งโลกและเรา เพราะสะอาดและซักใช้ซ้ำได้ ลองสร้างคอลเล็กชั่นผ้าเช็ดหน้ามาแมชท์กับการแต่งตัวสุดสนุก อาจทำให้การใช้ผ้าเช็ดหน้ามีสีสันยิ่งกว่าเดิม

3. กระดาษทิชชูและแอลกอฮอล์สเปรย์
อีกฟังก์ชั่นยอดนิยมของทิชชู่เปียก คือ ใช้เช็ดทำความสะอาดโต๊ะ เก้าอี้ หรือวัสดุต่าง ๆ ที่ตัวเราต้องสัมผัส ลองเปลี่ยนมาใช้แอลกอฮอล์สเปรย์และกระดาษทิชชู่ คู่หูที่รับรองว่าสะอาดและสะดวกไม่น้อยกว่ากัน

4. ทิชชูเปียก Eco-friendly ก็มีนะ
หรือหากเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ตอนนี้ก็มีผลิตภัณฑ์ทิชชู่เปียกที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติวางขาย ซึ่งย่อยสลายง่ายจึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ถ้าอยากลองใช้ให้สังเกตคำว่า Flushable (ทิ้งลงชักโครกได้) Biodegradable (ย่อยสลายได้) และ Eco-friendly ที่เขียนไว้ข้างห่อ

.
#ทิชชู่เปียก อีกไอเทมติดกระเป๋าของคนยุคใหม่ หลายคนแทบขาดไม่ได้ โดยเฉพาะคุณสุภาพสตรี แต่ที่น่าอึ้งชวนให้ตระหนักและเปลี่ยนช่วยโลก คือปัญหาของขยะทิชชูเปียกที่ตามมาดังกล่าว มันคือขยะตัวร้ายไม่แพ้กับพลาสติกเลย

ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9660000026373