เทศบาลนครเชียงรายนำรถบรรทุกน้ำฉีดพ่นขึ้นฟ้าและล้างถนนหวังบรรเทาผลกระทบจากฝุ่นละออง PM2.5 แต่นักวิชาการบอกว่าวิธีนี้ใช้ไม่ได้ผล

ชาวเชียงรายเผชิญกับคุณภาพอากาศเลวร้ายอย่างหนักวานนี้ (26 มี.ค.) เมื่อปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 พุ่งสูงเกินค่ามาตรฐานทั้งของประเทศไทยและขององค์การอนามัยโลกหลายเท่าตัว

.

ประชาชนและสื่อมวลชนท้องถิ่นใน จ.เชียงราย ได้เผยแพร่ภาพท้องฟ้าขมุกขมัวจากฝุ่นควันและรายงานค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนหรือ PM2.5 ซึ่งอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพตลอดทั้งวัน พร้อมกับเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ขณะที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียช่วยกันผลักดันแฮชแท็ก #saveแม่สาย และ #saveเชียงราย เพื่อให้สังคมตระหนักถึงความรุนแรงของสถานการณ์

.

บีบีซีไทยสรุปเหตุการณ์คุณภาพอากาศวิกฤตใน จ.เขียงราย ซึ่งกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) คาดการณ์ว่าคุณภาพอากาศจะอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพไปตลอดทั้งสัปดาห์นี้ (27 มี.ค.-2 เม.ย.)

.

ค่าฝุ่น PM2.5 ทะลุเพดาน
เว็บไซต์ Air4Thai ของ คพ. รายงานผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศใน จ.เชียงราย จาก 3 สถานี ใน 3 อำเภอ คือ อ.เมืองเชียงราย อ. แม่สาย และ อ.เชียงของ บีบีซีไทยตรวจสอบค่า PM2.5 รายชั่วโมงจากทั้ง 3 สถานี ระหว่างเวลา 01.00-20.00 น. พบว่าค่าสูงสุดอยู่ที่ 770 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ที่ อ.แม่สาย เมื่อเวลา 05.00 น. ซึ่งเกินค่ามาตรฐานของไทย (50 มคก./ลบ.ม.) ถึง 15 เท่า และเกินค่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลก (ไม่ควรเกิน 25 มคก./ลบ.ม.) อีกหลายเท่าตัว จัดว่าอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรง และยังเป็นค่า PM2.5 ที่สูงสุดของ จ.เชียงราย นับตั้งแต่ คพ. มีการบันทึกข้อมูลในระบบเมื่อ 24 ก.พ. 2566

.

เวลา 21.00 น. คพ. รายงานเพิ่มเติมว่าค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของฝุ่น PM2.5 ใน จ.เชียงราย ยังเกินค่ามาตรฐานและอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในทั้ง 3 สถานีตรวจวัด คือ อ.แม่สาย 549 อ.เชียงของ 243 และ อ.เมืองเชียงราย 221 มคก./ลบ.ม.

.

กรมอนามัยประกาศเตือนภัย
นพ. สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ออกแถลงการณ์เตือนประชาชนใน จ.เชียงราย ว่าสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ที่ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย (ณ เวลา 11.00 น. ของวันที่ 26 มี.ค.) สูงกว่าค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของประเทศไทย 9 เท่า และสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก 32 เท่า ระดับค่าฝุ่นละอองนี้ นอกจากจะส่งผลให้มีอาการแสบตา คันตา ตาแดง ระคายเคืองผิวหนัง ไอ หายใจลำบาก แน่นหน้าอกแล้ว ผู้ที่มีโรคหัวใจและระบบทางเดินหายใจจะมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น และหากได้รับฝุ่น PM2.5 ในปริมาณมากในระยะยาว จะทำให้เกิดการอักเสบภายในร่างกาย ระบบต่างๆ ในเซลล์ของปอดถูกทำลาย ทำให้เกิดโรคทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือดและมะเร็งในระยะยาว

.

กรมอนามัยแนะนำให้ประชาชนเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพตนเองโดย 1) ลดระยะเวลาหรืองดการออกนอกอาคารโดยไม่จำเป็น หากออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น 2) งดการออกกำลังกายกลางแจ้ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคทางเดินหายใจและโรคหัวใจ 3) อยู่ในบ้าน ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด หากทำห้องปลอดฝุ่นได้ ให้อยู่ในห้องปลอดฝุ่น 4) ดูแลสุขภาพและสังเกตอาการของเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว หากมีอาการรุนแรง เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออกให้รีบไปพบแพทย์

.

ห่วงทารกแรกคลอด
ทพ.วีระ อิสระธานันท์ ทันตแพทย์เชี่ยวชาญ รพ.แม่จัน จ.เชียงราย เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “Doctor กล้วย” ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 55,000 คน โพสต์ภาพเครื่องฟอกอากาศในห้องทารกแรกคลอดในโรงพยาบาล ที่วัดดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ภายในห้องได้ที่ 389 ซึ่งอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ พร้อมกับบรรยายภาพว่า “ห้องทารกแรกคลอดในวันที่หมอกควันหนักหนาสาหัส”

.

“เด็ก ๆ แรกเกิด ต้องมาพบเจอมลพิษแบบนี้ ปอดน้อง ๆ ก็เพิ่งเริ่มทำงานวันแรก ขนาดใช้เครื่องฟอกหลายตัว และยังมีเด็ก ๆ ในหอผู้ป่วยในอีก อย่างที่รู้เราใส่แมสก์ให้เด็กไม่ได้ แถมเรายังทำได้แค่บรรเทาด้วยเครื่องฟอกอากาศ แต่ภาวะแบบนี้ หมอก็ไม่รู้จะปกป้องดูแลเด็ก ๆ ยังไงแล้ว สงสารจังลูก” ทพ.วีระเขียนข้อความในโพสต์ดังกล่าว ซึ่งมีผู้แชร์ไปเป็นจำนวนมาก

.

วิจารณ์เทศบาลนครเชียงรายฉีดน้ำไล่ฝุ่น
เทศบาลนครเชียงรายพยายามบรรเทาผลกระทบจากวิกฤต PM2.5 ด้วยการใช้ลดบรรทุกน้ำขนาด 12,000 ลิตร และ 6,000 ลิตร จำนวน 2 คัน “ฉีดน้ำล้างถนนและฉีดพ่นหมอกน้ำ” บริเวณพื้นที่ก่อสร้าง แหล่งชุมชนสำคัญ หรือพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นละอองหนาแน่น

.

แต่นักวิชาการได้ออกมาทักท้วงว่ามาตรการดังกล่าวไม่สามารถบรรเทาหรือแก้ปัญหา PM2.5 ได้

.

ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กว่าการฉีดพ่นน้ำขึ้นฟ้าไม่ได้ช่วยลดฝุ่น PM2.5 เพราะฝุ่นมีขนาดเล็กจิ๋วมาก หยดน้ำมีผลในการจับฝุ่นได้ค่อนข้างน้อย แต่กระแสลมมีผลกระทบมากที่สุดในการพัดพาฝุ่น ทางออกที่ต้องรีบทำคือต้องหยุดการเผาไหม้ทุกจุดในจังหวัดเชียงรายและจังหวัดข้างเคียง

.

ก่อนหน้านี้ รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้ข้อมูลในทำนองเดียวกันว่า การฉีดพ่นละอองน้ำไม่สามารถดักจับฝุ่นที่มีขนาดเล็กจิ่วมาก ๆ อย่าง PM2.5 ได้ แต่จะช่วยลดฝุ่นละอองที่มีขนาดใหญ่กว่าได้ เช่น ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM 10)

.

เจ้าหน้าที่เทศบาลนครเชียงรายฉีดพ่นน้ำซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการรับมือกับฝุ่น PM2.5

PM2.5 ในภาคเหนือพุ่งขึ้นเพราะอะไร
ค่าฝุ่น PM2.5 ใน จ.เชียงราย ไต่ระดับขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) รายงานการเพิ่มขึ้นของจุดความร้อนในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน โดย GISTDA ระบุว่า “สิ่งหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังที่มักจะมากับเหตุการณ์ไฟป่าและจุดความร้อนคือ PM2.5 สถานการณ์การจุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิด PM2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดนเนื่องจากได้รับอิทธิพจากประแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา”

.

ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 25 มี.ค. GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ว่าพบจุดความร้อนเพิ่มขึ้นในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ไทย 4,376 จุด เมียนมา 12,581 จุด ลาว 8,535 จุด กัมพูชา 744 จุด เวียดนาม 720 จุด และมาเลเซีย 31 จุด

.

สำหรับจุดความร้อนในประเทศไทย พื้นที่ที่พบมากที่สุด เรียงลำดับจากมากไปน้อยได้ดังนี้ พื้นป่าอนุรักษ์ (2,103 จุด) พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ (1,502 จุด)พื้นที่เกษตร (364 จุด) พื้นที่ชุมชน (196 จุด) พื้นที่ สปก. (193 จุด) พื้นที่ริมทางหลวง (18 จุด) จังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด 3 อันดับ คือ แม่ฮ่องสอน (609 จุด) น่าน (439 จุด) และ กาญจนบุรี (322 จุด)

.

ทางด้านกรมอนามัยคาดการณ์ว่าในสัปดาห์นี้ (27 มี.ค.-2 เม.ย.) พื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านยังคงมีแนวโน้มการสะสมฝุ่น PM2.5 เนื่องจากลมนิ่ง รวมทั้งการเผาทั้งในประเทศและจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งพบจุดความร้อนสะสมในเดือนมีนาคมสูงถึง 25,209 จุด ส่งผลให้ฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/cje5ljp0rrxo