ข้อมูลล่าสุดว่าด้วยค่าความร้อนเฉลี่ยที่ผิวน้ำทะเล ซึ่งมีการสำรวจและบันทึกด้วยดาวเทียมมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 เผยว่าอุณหภูมิของมวลน้ำด้านบนในมหาสมุทรทั่วโลกได้พุ่งสูงขึ้นอีก จนถึงขั้นทำลายสถิติที่เคยบันทึกไว้ทั้งหมดแล้ว

.

เว็บไซต์ข้อมูลสภาพอากาศ ClimateReanalyzer.org ระบุว่าตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายนหรือเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา อุณหภูมิผิวน้ำของมหาสมุทรทั่วโลกร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนแตะระดับทำลายสถิติที่ 21.10 องศาเซลเซียส (69.98 องศาฟาเรนไฮต์) ล้มแชมป์เก่าซึ่งเป็นข้อมูลจากเดือนมี.ค. 2016 ซึ่งวัดระดับอุณหภูมิผิวน้ำสูงสุดได้โดยเฉลี่ยที่ 21.00 องศาเซลเซียส

.

สถิติสูงสุดของปีนี้และสถิติเดิมจากเดือนมี.ค. 2016 ต่างก็ร้อนแรงกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างปี 1982-2011 อยู่มากกว่า 1 องศาเซลเซียส

.

ไมเคิล แม็กแฟเดน นักสมุทรศาสตร์จากองค์การบริหารกิจการมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศหรือโนอา (NOAA) ของสหรัฐฯ ระบุว่าสาเหตุที่ทำให้ผิวน้ำในมหาสมุทรร้อนขึ้นเรื่อย ๆ นั้น มีอยู่สองประการด้วยกัน หนึ่งคือภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ขึ้นไปสะสมตัวอยู่ในชั้นบรรยากาศ

.

ส่วนสาเหตุประการที่สองนั้น ได้แก่การสิ้นสุดของปรากฏการณ์ลานีญา 3 ปีซ้อน เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้ไม่มีสภาพอากาศหนาวเย็นและฝนตกชุกในแถบแปซิฟิก มาคอยทำหน้าที่ลดระดับอุณหภูมิบริเวณผิวน้ำทะเลลง

.

ขณะนี้ภูมิอากาศในแถบแปซิฟิกอยู่ในช่วงที่ “เป็นกลาง” ระหว่างปรากฏการณ์เอลนีโญกับลานีญา แต่มีแนวโน้มความเป็นไปได้สูงถึง 60% ว่ากำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาวะร้อนจัดและแห้งแล้ง ซึ่งอาจเกิดขึ้นด้วยปรากฏการณ์เอลนีโญที่มีความรุนแรงกว่าปกติในปีนี้

.

แผนที่แสดงอุณหภูมิผิวน้ำของมหาสมุทรทั่วโลก เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2023

แม็กแฟเดนมองว่า หากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ร้อนและแล้งจัดเกิดขึ้นจริง นั่นจะยิ่งทำให้อุณหภูมิผิวน้ำของมหาสมุทรทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นไปอีก จนสถิติที่ถูกทำลายลงในปีนี้จะถูกล้มแชมป์อีกอย่างแน่นอนในปี 2024

.

ก่อนหน้านี้เคยมีผลวิจัยที่ทำนายว่า สภาพอากาศแบบสุดขั้วอย่างเช่นปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา จะเกิดขึ้นบ่อยถี่ยิ่งกว่าเดิมและมีความรุนแรงสูงกว่าปกติถึง 2 เท่า ภายในช่วงสิ้นสุดศตวรรษนี้

.

อุณหภูมิผิวน้ำที่เพิ่มขึ้นหรือการเกิดคลื่นความร้อนในมหาสมุทร ทำให้สิ่งมีชีวิตในท้องทะเลหลายชนิดพันธุ์ไม่อาจทานทนได้ ตัวอย่างเช่นการเกิดปะการังฟอกขาว ซึ่งส่งผลกระทบแบบลูกโซ่ต่อแหล่งอาหารและสถานที่อนุบาลลูกอ่อนของเหล่าสัตว์น้ำ

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c6plym805d2o