ชายผู้เป็นอัมพาต กลับมาเดินได้อีกครั้ง เพียงแค่ใช้การคิด ถือเป็นความสำเร็จจากการผ่าตัดปลูกถ่ายสมองอิเล็กทรอนิกส์ครั้งแรกในวงการแพทย์ ที่ตัวคนไข้เองยอมรับว่า ได้เปลี่ยนชีวิตเขาไปเลย

.

เกิร์ต-แจน ออสแคม ชาวเนเธอร์แลนด์ วัย 40 ปี เป็นอัมพาตจากอุบัติเหตุจักรยานเมื่อ 12 ปีก่อน

.

แต่การผ่าตัดปลูกถ่ายสมองอิเล็กทรอนิกส์ ที่ช่วยถ่ายทอดสัญญาณความคิดของเขาไปยังขาและเท้า ผ่านการปลูกถ่ายอวัยวะอิเล็กทรอนิกส์อีกส่วนที่กระดูกสันหลัง ทำให้ชายคนนี้กลับมาเดินได้อีกครั้ง

.

แม้ระบบอันน่าอัศจรรย์นี้ยังอยู่ในขั้นทดลอง แต่มูลนิธิเกี่ยวกับโรคกระดูกสันหลังในสหราชอาณาจักร มองว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น “น่าพึงพอใจมาก”

.

“ผมเหมือนทารก ที่ต้องหัดเดินใหม่อีกครั้ง” ออสแคม บอกกับบีบีซี ตอนนี้เขายืนและเดินขึ้นบันไดได้แล้ว

.

“มันเป็นการเดินทางที่ยาวนาน แต่ตอนนี้ ผมยืนและดื่มเบียร์กับเพื่อนได้แล้ว มันคือความสุขที่หลายคนคาดไม่ถึง”

.

หมวกที่เกิร์ต-แจน สวมอยู่ ถ่ายทอดสัญญาณจากสมองไปยังคอมพิวเตอร์

รายละเอียดการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร “เนเจอร์” (Nature) นำโดยทีมวิจัยชาวสวิตเซอร์แลนด์

.

ศ.โจเซลิน บลอช จากมหาวิทยาลัยโลซาน และเป็นศัลยแพทย์ระบบประสาท ที่ดำเนินการผ่าตัดปลูกถ่ายอุปกรณ์เข้าไปในตัวออสแคม เน้นว่า ระบบนี้ยังอยู่ในขั้นการทดลองพื้นฐาน และต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะที่นำไปใช้กับผู้ป่วยอัมพาตทั่วไปได้

.

แต่เธอก็บอกกับบีบีซีว่า เป้าหมายของทีมวิจัยตอนนี้ คือการนำเทคโนโลยีการรักษานี้มาใช้นอกห้องทดลองให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

.

“สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเรา ไม่ใช่การทดลองทางวิทยาศาสตร์ แต่คือการทำให้ผู้คนที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณไขสันหลัง และถูกแพทย์พร่ำบอกให้ยอมรับความจริงว่า พวกเขาจะเดินไม่ได้อีก ให้เข้าถึงการรักษาแบบนี้”

.

ฮาวีย์ ซิโฮตา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิ Spinal Research ในสหราชอาณาจักร ซึ่งแม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทดลองโดยตรง แต่เมื่อได้เห็นผลลัพธ์ เขามองว่า “มันน่าพึงพอใจมาก”

.

“แม้จะต้องปรับปรุงอีกมาก แต่เทคโนโลยีนี้ ก็เป็นก้าวที่น่าตื่นเต้นในด้านเทคโนโลยีระบบประสาท และมันจะมีบทบาทสำคัญ เพื่อฟื้นฟูและเรียกคืนอิสรภาพให้แก่ผู้คนที่ได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลังได้”

.

สัญญาณสมองจากการคิดของเกิร์ต-แจน ถูกแปลงออกมาเป็นชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์ เพื่อทำให้กล้ามเนื้อขาขยับ

การผ่าตัดเพื่อฟื้นคืนการเคลื่อนไหวให้กับ เกิร์ต-แจน มีขึ้นเมื่อเดือน ก.ค. 2021 โดย ศ.บลอช เจาะกะโหลกศีรษะของเขาเป็นรูปวงกลม รัศมี 5 เซนติเมตร ที่กะโหลกทั้งสองฝั่ง บริเวณเหนือสมองส่วนควบคุมการเคลื่อนไหว

.

จากนั้น เธอสอดอุปกรณ์ปลูกถ่ายที่มีรูปร่างเป็นแผ่นดิสค์ขนาดจิ๋ว 2 ชิ้นเข้าไป ซึ่งอุปกรณ์นี้ จะถ่ายทอดสัญญาณแบบไร้สายจากสมอง โดยเฉพาะสัญญาณสมองที่เกี่ยวกับความตั้งใจจะเคลื่อนไหวของเกิร์ต-แจน ไปยังเซนเซอร์ 2 ตัวที่ติดอยู่บนหมวกที่เขาสวมอยู่

.

ทีมวิจัยได้พัฒนาอัลกอริทึ่ม ที่จะแปลงสัญญาณเหล่านี้ มาเป็นชุดคำสั่งเพื่อเคลื่อนไหวขาและเท้า ผ่านอุปกรณ์ปลูกถ่ายชิ้นที่ 2 บริเวณกระดูกสันหลังของเกิร์ต-แจน ซึ่ง ศ.บลอช ได้ติดไว้บริเวณปลายระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการเดิน

.

ศ.กรีกอรี คูร์ทีน จากมหาวิทยาลัยด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีในเมืองโลซาน ที่เป็นผู้นำโครงการนี้พบว่า หลังผ่าตัดและเข้ารับการฝึกเพียงไม่กี่สัปดาห์ เกิร์ต-แจน สามารถยืนและเดินได้ ด้วยความช่วยเหลือจากไม้เท้า แม้การเคลื่อนไหวจะค่อนข้างช้า แต่ก็ลื่นไหล

.

“การได้เห็นเขาเดินอย่างเป็นธรรมชาติ มันน่าประทับใจมาก” เขากล่าว “มันเปลี่ยนกระบวนทัศน์ จากแนวทางรักษาเดิมที่เราเคยรับรู้มา”

.

อุปกรณ์ปลูกถ่ายสมองนี้ พัฒนาต่อยอดมาจากผลงานก่อนหน้านี้ของ ศ.คูร์ทีน ที่ใช้การปลูกถ่ายบริเวณไขสันหลัง เพื่อฟื้นฟูการเคลื่อนไหวให้คนไข้

.

การปลูกถ่ายไขสันหลัง จะช่วยทำให้สัญญาณจากสมองไปยังส่วนที่เสียหายในกระดูกสันหลังเข้มข้นมากขึ้น ก่อนเพิ่มความเข้มข้นของสัญญาณผ่านการโปรแกรมด้วยคอมพิวเตอร์อีกทอดหนึ่ง

.

ก่อนหน้านี้ บีบีซีเคยรายงานข่าวถึง เดวิด เอ็มซี ซึ่งเป็นคนไข้คนแรกที่ได้รับการปลูกถ่ายไขสันหลังในปี 2018 จนทำให้เขาขยับตัวได้มากพอจะมีบุตรกับภรรยา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเป็นไปได้มาก่อน

.

และเมื่อปีที่แล้ว (2022) บีบีซีได้รายงานถึงกรณีของ มิเชล ร็อกกาติ ที่กลายเป็นมนุษย์คนแรกที่บาดเจ็บจนไขสันหลังฉีกขาด แต่กลับมาเดินได้ด้วยเทคโนโลยี

.

อย่างไรก็ดี คนไข้ทั้งสองกลับมาขยับตัวได้ระดับหนึ่งก็จริง แต่ท่วงท่าการเดินยังไม่เป็นธรรมชาติ และเหมือนหุ่นยนต์อยู่ พวกเขายังต้องตั้งสมาธิไปกับทุกการเคลื่อนไหวด้วยคอมพิวเตอร์ รวมถึงต้องหยุดเดิน และรีเซ็ตระบบใหม่ทุกครั้งที่ระบบไม่สัมพันธ์กัน

.

ส่วน เกิร์ต-แจน นั้น พึ่งได้รับการปลูกถ่ายไขสันหลัง ก่อนที่จะรับการปลูกถ่ายสมองต่อ ตอนนี้เขาระบุว่า ควบคุมร่างกายได้มากขึ้น

.

เกิร์ต-แจน และผู้ป่วยคนอื่น ๆ ที่เดินไม่ได้

“ผมเคยรู้สึกว่า ระบบมันควบคุมผม ตอนนี้ ผมควบคุมระบบ”

.

ก่อนหน้านี้ ระบบเก่าและระบบใหม่ เพื่อช่วยการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยอัมพาตนั้น ไม่สามารถใช้พร้อมกันได้ อีกทั้งอุปกรณ์ช่วยเคลื่อนไหวยังมีขนาดใหญ่เทอะทะ และยังอยู่ในขั้นทดลอง ส่งผลให้คนไข้มีโอกาสใช้อุปกรณ์ช่วยเคลื่อนไหวเพียง 1 ชั่วโมง หรือไม่กี่ครั้งต่อสัปดาห์ สำหรับการกายภาพบำบัดเท่านั้น เพราะการฝึกเดินช่วยทำให้กล้ามเนื้อได้ขยับตัว และฟื้นคืนการเคลื่อนไหวได้ระดับหนึ่ง แม้จะปิดระบบไปแล้วก็ตาม แสดงให้เห็นว่าประสาทที่เสียหายอาจกำลังฟื้นตัวก็เป็นได้

.

เป้าหมายท้ายสุดของการพัฒนาเทคโนโลยีการรักษานี้ คือการย่อขนาดของอุปกรณ์ และพัฒนาจนถึงจุดที่นำมาจำหน่ายในราคาที่เข้าถึงได้ เพื่อให้คนทั่วไปได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

.

“มันกำลังจะเกิดขึ้น” ศ.คูร์ทีน กล่าว “เกิร์ต-แจน ได้รับการปลูกถ่าย หลังประสบอุบัติเหตุ 10 ปี ลองคิดดูสิว่า ถ้าเราใช้การปลูกถ่ายสมองและกระดูกสันหลังประสานกัน หลังประสบอุบัติเหตุไม่กี่สัปดาห์ ศักยภาพในการฟื้นตัวจะมากแค่ไหน”

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c4nj107z6y6o