ข้อมูลเผยแพร่บน facebook สท.: Infographic, บทความ

           ถ้าพูดถึงดอกไม้ที่มีลักษณะสวยงาม หลายคนคงต้องนึกถึงดอกไม้ที่มีสีสันสดใส มีกลิ่นอันหอมหวาน ชวนให้ผู้คนอยากที่จะชื่นชม แต่ก็เชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่นึกถึงดอกไม้ที่มีลักษณะเรียบง่าย สบายตา หรือจะเป็นลักษณะดอกเล็ก ๆ น่ารัก ซึ่งดอกคาโมมายล์ก็คงเป็นหนึ่งในความคิดของหลาย ๆ คนด้วยเช่นกัน เพราะนอกจากจะมีความสวยงามตามแบบของตัวเองแล้ว ก็ยังเป็นดอกไม้ที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์หลากหลาย ซึ่งชาวยุโรปนั้นจะรู้จักคาโมมายล์กันดีในชื่อ Capable of anything หรือยาครอบจักรวาล นั่นเอง

.

          ดอกคาโมมายล์ ใช้เป็นสมุนไพรมานานนับพันปี ตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณ กรีกและโรมัน ซึ่งเป็นสมุนไพรที่ได้รับความนิยมมากในทวีปยุโรป เพราะมีสรรพคุณที่เป็่ประโยชน์มากมาย ได้แก่ ชาชงจากดอกคาโมมายล์ สามารถทำให้จิตใจสงบ ผ่อนคลายอารมณ์ คลายกังวล ช่วยทำให้นอนหลับสบาย รวมไปถึงลดอาการระคายเคืองทางเดินอาหาร ขับลม ลดอาการปวดเกร็งท้อง ลดอาการปวดประจำเดือน หรือแม้แต่การสูดดมไอระเหยจากชาคาโมมายล์ด้วยน้ำร้อนหรือการนำไปกลั้วคอ และบ้วนปากวันละหลาย ๆ ครั้ง ก็จะช่วยลดอาการอักเสบใน  ช่องปาก เยื่อบุผิวในช่องจมูก หรือลำคอได้เป็นอย่างดี โดยนอกจากจะมีสรรพคุณทางยาแล้วรวมไปถึงน้ำมันหอมระเหยยังมีการใช้แต่งกลิ่นในอาหาร เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางได้อีกเช่นกัน คาโมมายล์นิยมปลูกมาก ในทวีปยุโรป เช่น เยอรมัน ฮังการี ฝรั่งเศส รัสเซีย เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบได้ในทวีป อเมริกา แอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย โดยในประเทศไทยนั้นได้นำมาปลูกในศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโงะ ดอยสะโงะ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และมีการจัดจำหน่ายทั้งดอกสด และดอกอบแห้ง ลักษณะโดยทั่วไปของดอกคาโมมายล์ มีดังนี้ คาโมมายล์มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Chamaemelum nobile (L.) All. อยู่ในวงศ์ Asteraceae เป็นประเภทไม้ดอก โดยทั่วไป มีอายุ 1-2 ปี ดอกคาโมมายล์จะมีด้วยกัน 2 สายพันธุ์คือ เยอรมันคาโมมายล์ (Matricaria recutita L. หรือ Chamomilla recutita L. หรือ Matricaria chamomilla) และโรมันคาโมมายล์ (Chamaemelum nobile L.) แต่คาโมมายล์สายพันธุ์เยอรมันจะเป็นที่รู้จักและนิยมใช้มากกว่า ทั่วไป ดอกคาโมมายล์จะมีลำต้นพุ่มสูง 20-40 เซนติเมตร ลำต้นค่อนข้างทอดเลื้อย ทุกส่วนของต้นมีกลิ่นหอม ลักษณะของใบเป็นแบบขนนกสองชั้นเวียนสลับ แตกย่อยเป็นริ้ว ๆ คล้ายผักชี ใบสีเขียวสด หลังใบมีขนสีเงิน ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวบริเวณปลายกิ่ง กลีบดอกวงนอกสีขาวรูปขนาน ปลายมน เวียนรอบตุ้มเกสรสีเหลืองขนาดใหญ่ ดอกมีกลิ่นหอมคล้ายแอปเปิล ในส่วนของการดูแลนั้น ชอบดินร่วนปนทราย ชอบน้ำปานกลาง แสงแดดเต็มวัน ชอบอากาศเย็น แต่สามารถทนแล้งเป็นอย่างดี ขยายพันธุ์โดยปักชำกิ่ง หรือการเพาะเมล็ด โดยต้องหว่านในกระบะเฉพาะ และให้น้ำด้วยฟ็อกกี้ พอเมล็ดเติบโตเป็นต้นกล้า จึงย้ายไปลงถุงขนาดเล็ก และดูแลจนต้นกล้าตั้งตัวได้ จึงนำไปปลูกในแปลงต่อไป      

.   

                จากรายงานการวิจัย พบว่า ดอกคาโมมายล์มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลายอย่าง ได้แก่ ฤทธิ์ต้านการอักเสบ (anti inflammatory) พบว่า สารสกัดดอกคาโมมายล์มีฤทธิ์ต้านการอักเสบในหนูที่ถูกทำให้อักเสบที่หูจากน้ำมันละหุ่ง โดยสารสกัดจากดอกสดจะให้ผลยับยั้งได้ดีกว่าดอกแห้ง ฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร สารสกัดและน้ำมันหอมระเหยจากดอกคาโมมายล์ และสารที่เป็นองค์ประกอบมีฤทธิ์ต้านการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อลำไส้ของสัตว์ทดลองที่เหนี่ยวนำให้เกิดการหดเกร็ง และสารสกัดดอกคาโมมายล์ด้วยเอทานอลในน้ำและสาร (-)-alpha-bisabolol สามารถยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหารสัตว์ทดลองที่เหนี่ยวนำด้วย indomethacin ความเครียด และแอลกอฮอล์ ฤทธิ์ทำให้สงบ คลายกังวล และนอนหลับสบาย พบว่าสารออกฤทธิ์ที่สำคัญคือ apigenin ออกฤทธิ์โดยการจับกับ benzodiazepine receptors และยังพบสาร GABA ปริมาณเล็กน้อย ซึ่งเป็นสารสื่อกระแสประสาท ทำหน้าที่รักษาสมดุลในสมอง ช่วยให้ผ่อนคลาย การสูดดมน้ำมันจากดอกคาโมมายล์มีผล ลดความเครียด และเมื่อสูดดมร่วมกับการได้รับยาไดอะซีแพม (diazepam) จะช่วยลดระดับของฮอร์โมนอะดรีโนคอร์ติโคโทรฟิค (adrenocorticotrophic hormone : ACTH) โดยมีการศึกษาในประเทศญี่ปุ่น พบว่าการรับประทานเจลลี่คาโมมายล์มีผลลดอัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้อารมณ์ดี และพบว่าการรับประทานสารสกัดดอกคาโมมายล์ติดต่อกันเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ช่วยลดอาการวิตกกังวลอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ น้ำมันและสารจากดอกคาโมมายล์มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา แบคทีเรีย และไวรัสก่อโรคหลายชนิด และน้ำมันคาโมมายล์  มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัสเริม นอกจากนี้สารสกัดคาโมมายล์ยังมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียก่อโรคหลายชนิดเช่นกัน

.

          อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าดอกคาโมมายล์นั้นมีจะคุณประโยชน์ต่อสุขภาพไม่น้อย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พบผู้ที่มีผลข้างเคียงจากการบริโภคผลิตภัณฑ์คาโมมายล์เช่นกัน แต่พบได้ในจำนวนน้อย อาจพบได้ในผู้ที่แพ้ดอกคาโมมายล์หรือพืชในตระกูลเดียวกัน ซึ่งมีอาการผิวหนังอักเสบ จาม น้ำมูกไหล ลิ้นและริมฝีปากบวม ซึ่งถ้าสังเกตเห็นความผิดปกติของร่างกายแล้วพบว่ามีอาการรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ แนะนำให้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อที่จะได้รับคำแนะนำและทำการรักษาอย่างถูกวิธีในลำดับต่อไปค่ะ

.

.

รายการอ้างอิง

ดอกคาโมมายล์. มิถุนายน, 2559. [อ้างถึงวันที่ 6 กันยายน 2564]. เข้าถึงจาก:  https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/321/ดอกคาโมมายล์

คาโมไมล์. กันยายน, 2563. [อ้างถึงวันที่ 6 กันยายน 2564]. เข้าถึงจาก:  https://www.baanlaesuan.com/plants/annual/135756.html

คาโมมายล์ สมุนไพรที่ช่วยให้ผ่อนคลายและบำรุงสุขภาพ. [อ้างถึงวันที่ 6 กันยายน 2564]. เข้าถึงจาก:   https://www.pobpad.com/คาโมมายล์-สมุนไพรที่ช่ว

คาโมมายล์ ประโยชน์ดี ๆ สรรพคุณเด่น ๆ และข้อมูลงานวิจัย. [อ้างถึงวันที่ 6 กันยายน 2564]. เข้าถึงจาก: https://www.disthai.com/17217363/คาโมมายล์

ขอบคุณภาพประกอบจาก

https://www.careandliving.com/ดอกคาโมมายล์-ฤทธิ์ต้านก/

https://www.pinclipart.com/pindetail/iTmwxRx_-clipart/