ปวดหลังแบบไหน...บอกอะไรได้บ้าง

.

          อาการปวดหลังนั้นเป็นอาการทั่วไปที่สามารถพบได้บ่อยในทุกเพศ ทุกวัย ทั้งอาการปวดหลังโดยไม่ทราบสาเหตุหรือมีอาการปวดหลังรุนแรงแบบฉับพลัน บางคนมีอาการรุนแรงจนมีผลกระทบกับงานและการใช้ชีวิตประจำวัน โดยกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน พฤติกรรมต่าง ๆ ที่ไม่ถูกต้อง หรือปัญหาด้านสุขภาพ รวมไปถึงสภาวะทางอารมณ์ ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังได้เช่นกัน

.

          ในปัจจุบัน มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีอาการปวดหลังทั้งแบบทราบและไม่ทราบสาเหตุ โดยอาการนั้นจะเริ่มรุนแรงมากขึ้นจนกลายเป็นปัญหาด้านสุขภาพ และเมื่อไปพบแพทย์นั่นเองจึงทำให้เราได้ทราบว่าเป็นโรคที่เกี่ยวกับการปวดหลัง ซึ่งกว่าจะตรวจพบก็ทำให้บางคนถึงขั้นต้องผ่าตัดเพื่อรักษาอาการปวดนี้ให้กลับมาดีเป็นปกติเสียแล้ว อาการปวดหลังมีด้วยกัน 3 แบบ ซึ่งแบ่งตามช่วงเวลาของอาการ คือ 1. อาการปวดแบบฉับพลัน (Acute) ปวดหลังต่อเนื่องน้อยกว่า 6 สัปดาห์ ไม่ได้ปวดร้าวลงไปตามแนวขา แต่มักเกิดจากกล้ามเนื้อเอวตึงเคล็ดหรือข้อต่อเอ็นบริเวณรอบกระดูกสันหลังอักเสบส่งผลให้เกิดอาการปวด ทรมาน แต่อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน หลังจากได้รับการรักษา 2. อาการปวดกึ่งฉับพลัน (Subacute) ปวดหลังต่อเนื่อง 6-12 สัปดาห์ มีอาการปวดร้าวไปยังบริเวณสะโพกและขา อาจเกิดจากโรคหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ระยะเวลาที่อาการจะทุเลาอาจใช้เวลานานกว่าอาการปวดหลังแบบฉับพลัน และ 3. อาการปวดแบบเรื้อรัง (Chronic) ปวดหลังต่อเนื่องนานกว่า  12 สัปดาห์ มีอาการปวดหลังและปวดร้าวลงขา จัดเป็นอาการกลุ่มโรคเรื้อรัง ที่เป็นอันตรายและไม่ควรมองข้าม อาจเกิดจากกระดูกสันหลังตีบแคบเบียดเส้นประสาท การรักษาแบบเฉพาะทางจึงถือเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งปัจจัยหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดหลังนั้นมีมากมาย เช่น อายุ ความเครียด ขาดการออกกำลังกาย การยกของหนัก การสูบบุหรี่ ภาวะกระดูกพรุนหรือบาง ภาวะโรคอ้วน อาการออฟฟิศซินโดรมที่มีการนั่งทำงานนาน ๆ เคลื่อนไหวน้อยหรือเคลื่อนไหวผิดปกติ หรือแม้แต่ที่นอนที่เรานอนที่มีลักษณะแข็งหรือนิ่มเกินไป ไม่ถูกต้องตามสรีระ นั่นก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะอาการปวดหลังได้เช่นกัน

.

          เราจะรู้ได้อย่างไรว่า อาการปวดหลังแบบไหนที่เป็นอันตรายต้องรีบไปพบแพทย์ ซึ่งเราทุกคนจำเป็นต้องหมั่นสังเกตร่างกายของตนเองอยู่เป็นประจำ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือผิดปกติอย่างไรบ้าง หรือถ้ามีอาการ      ปวดหลังก็ควรประเมินตัวเองว่ามีความปวดหรือเจ็บอยู่ในระดับใด เช่น ปวดเมื่อยตามตัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อไปจนถึงปวดหลังอย่างต่อเนื่องและปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ มากกว่า 4 สัปดาห์ หรือปวดเฉพาะช่วงกลางคืน อย่างต่อเนื่อง ปวดหลังเนื่องจากเกิดจากอุบัติเหตุที่รุนแรง ปวดหลังร่วมกับความผิดปกติของระบบประสาท การที่น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ มีไข้ มีปัญหาขับถ่ายผิดปกติ ปวดร้าวลงขาหรือขาอ่อนแรง หากพบเจออาการพวกนี้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาหรือตรวจร่างกายเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุและอาการอย่างแน่ชัด โดยอาจใช้ การตรวจเอกซเรย์แบบปกติ คือ ใช้ประเมินความผิดรูปของกระดูกสันหลัง ประเมินการหักของกระดูก หรือ การตรวจเอกซเรย์แบบพิเศษ คือ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือ การสร้างภาพกระดูกสันหลังด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ใช้ประเมินสภาวการณ์ตีบของโพรงเส้นประสาท ภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท การติดเชื้อหรือเนื้องอกของกระดูกสันหลัง แต่ถึงอย่างไร อาการปวดหลังนั้นก็สามารถรักษาให้หายได้หากมีการรักษาอาการอย่างตรงจุด ซึ่งกระบวนการรักษาก็ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หากอาการ ไม่รุนแรงมากก็อาจจะแค่รับประทานยาแก้ปวดหรือยาคลายกล้ามเนื้อ การปรับเปลี่ยนอิริยาบถต่าง ๆ หรือการทำกายภาพบำบัด และการลดน้ำหนักที่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เพิ่มแรงกดทับต่อหลังของเรา รวมไปถึงการบริหารความเครียดที่สามารถช่วยลดอาการและป้องกันการปวดหลังได้เช่นกัน แต่หากอาการนั้นรุนแรงเพิ่มมากขึ้นจนกระทบกับการใช้ชีวิต อาจต้องทำการรักษาด้วยการฉีดยาเข้าเส้นประสาทสันหลังหรือการผ่าตัด ซึ่งควรได้รับคำแนะนำและการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด

.

          ไม่ว่าอย่างไร เราทุกคนก็สามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดหลังจนถึงขั้นรุนแรงได้ ด้วยการหมั่นสังเกตพฤติกรรมของตนเองรวมถึงหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เป็นความเสี่ยงที่ส่งผลต่อร่างกายของเรา ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ และรักษาสมดุลร่างกายให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีตลอดเวลา เพราะแม้ว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์จะก้าวหน้าไปมากก็ตาม จึงทำให้ไม่ต้องกังวลในการรักษาหรือผ่าตัดแต่ถ้าเราทุกคนดูแลสุขภาพร่างกายตัวเองได้เป็นอย่างดีให้สามารถใช้ชีวิตปกติได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ นั่นก็ย่อมเป็นสิ่งสำคัญ  ที่ดีที่สุดกว่าสิ่งอื่นใดใช่ไหมล่ะคะ

.

รายการอ้างอิง

ปวดหลัง แบบไหนอันตราย เช็คให้ชัวร์. [ออนไลน์]. กุมภาพันธ์, 2564. [อ้างถึงวันที่ 20 กันยายน 2564]. เข้าถึงจาก :  https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/ปวดหลังช่วงเอว

ปวดหลัง…สัญญาณบอก(หลาย)โรคที่ไม่ควรมองข้าม. [ออนไลน์]. กันยายน, 2563. [อ้างถึงวันที่ 20 กันยายน 2564]. เข้าถึงจาก:  https://www.phyathai.com/article_detail/3379/th/ปวดหลัง...สัญญาณบอก

(หลาย)โรคที่ไม่ควรมองข้ามปวดหลังและปวดร้าวลงขา. [ออนไลน์]. [อ้างถึงวันที่ 20 กันยายน 2564]. เข้าถึงจาก: https://www.bangkokinternationalhospital.com/th/health-articles/article-type/back-pain

“ปวดหลังส่วนล่าง” อาการบ่งชี้โรคสำคัญที่ไม่ควรละเลย. [ออนไลน์]. [อ้างถึงวันที่ 20 กันยายน 2564]. เข้าถึงจาก: https://www.nakornthon.com/article/detail/ปวดหลังส่วนล่าง-อาการบ่งชี้โรคสำคัญที่ไม่ควรละเลย?__cf_chl_jschl_tk__=pmd_qRY8Ns3CqFN_xBvBh1pwWdCK5f0ytHxIX89TytZLZog-1632319617-0-gqNtZGzNBCWjcnBszQtl

.

ขอบคุณภาพประกอบจาก

https://www.youtube.com/watch?v=-vE0AAZQGdU