ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) พัฒนาชุดทดสอบเพื่อตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยทีมงานนักวิจัยคณะเทคนิคการแพทย์ และคณะเภสัชศาสตร์ เผยชุดตรวจใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที สามารถวินิจฉัยคัดกรองการติดเชื้อเบื้องต้นได้

     ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ผศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ร่วมแถลงข่าวมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผลิตชุดตรวจประสิทธิภาพสูง PSU COVID-19 ได้สำเร็จ เปรียบเสมือนอาวุธสำคัญทางการแพทย์ สำหรับต้านการรุกรานของเชื้อโรค โดยความสามารถของนักวิจัยจากหลายคณะ และทุ่มเทในการแก้ไขปัญหา โดยเปิดศูนย์หลักของภาคใต้ในการดูแลผู้ป่วย
     การติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 พบครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2562 ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน จากนั้นระบาดอย่างรวดเร็ว และแพร่กระจายไปทั่วโลก การวินิจฉัยการติดเชื้อก่อโรคโควิด-19 ที่ถือเป็นวิธีมาตรฐาน คือ การตรวจหาสารพันธุกรรม (RNA) ของไวรัส โดยตรวจจากสิ่งส่งตรวจที่เป็นสารคัดหลั่งบริเวณทางเดินหายใจ ซึ่งต้องใช้บุคลากรที่มีความชำนาญในการปฏิบัติงาน และแปลผลการตรวจ มีระยะเวลาการตรวจที่นานประมาณ 2-3 ชั่วโมง เครื่องมือมีราคาสูงไม่เหมาะกับงานภาคสนาม อีกทั้งบุคลากรที่ทำหน้าที่เก็บตัวอย่างจะมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อไวรัส เนื่องจากต้องสัมผัสกับคนไข้ในระหว่างการเก็บตัวอย่างส่งตรวจจากทางเดินหายใจ ซึ่งมีความเข้มข้นของเชื้อไวรัสในปริมาณสูงผศ.ดร.ธีรกมล เพ็งสกุล คณะเทคนิคการแพทย์ หัวหน้าโครงการชุดทดสอบเพื่อตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 เปิดเผยว่า ชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 (PSU COVID-19 Rapid Test) นี้ จะสามารถช่วยคัดกรองเบื้องต้นในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่จะสัมผัสกับเชื้อ (person under investigation หรือ PUI) ซึ่งสามารถระบุได้เบื้องต้นว่า ผู้ป่วยอยู่ในระยะใดของการติดเชื้อ หากการวินิจฉัยเบื้องต้นพบผลบวกก็สามารถส่งต่อเพื่อตรวจยืนยันได้ นอกจากนี้ หากเคยได้รับเชื้อ และหายแล้วก็ยังตรวจได้ การตรวจใช้ตัวอย่างเลือด และใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที ในการทดสอบ การพัฒนาชุดตรวจครั้งนี้ เราเฟ้นหาผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ทั้งนักเทคนิคการแพทย์ เภสัชกร และคณะแพทยศาสตร์ เพื่อให้เราผ่านวิกฤตไปด้วยกัน
“โครงการพัฒนาชุดทดสอบเพื่อตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ชุดตรวจนี้ใช้สำหรับตรวจคัดกรองผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว ใช้หลักการ immunochromatography (อิมมูโนโชมาโตกราฟี) (ICT) ในการตรวจหาภูมิคุ้มกันของร่างกายที่สร้างต่อเชื้อ ทั้งชนิด IgM และ IgG และจำเพาะต่อโปรตีนของเชื้อไวรัสก่อโรค COVID-19 โดยวิธี ICT เป็นวิธีที่นิยมใช้ในการตรวจ เนื่องจากทำได้ง่าย รวดเร็ว มีความคงตัว มีความไว และความจำเพาะสูง สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งการตรวจหาการติดเชื้อในเบื้องต้น และตรวจติดตามการพัฒนาภูมิคุ้มกันของร่างกาย ใช้เวลาในการตรวจเพียง 15-20 นาที ชุดตรวจเก็บรักษาได้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลาหลายเดือน อีกทั้งตัวอย่างที่ใช้ในการตรวจมีปริมาตรน้อยประมาณ 15-20 ไมโครลิตร (2-3 หยด) ใช้ได้กับตัวอย่างเลือดที่เจาะจากปลายนิ้ว พลาสมาหรือซีรัม ตัวอย่างเหล่านี้มีปริมาณของเชื้อไวรัสที่น้อยมาก จึงลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของบุคลากรจากการเก็บตัวอย่าง อีกทั้งยังเหมาะกับการตรวจภาคสนามที่บุคลากรทางการแพทย์ตรวจจากผู้ป่วยที่กักตัวที่บ้าน โดยที่ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล ลดการแพร่เชื้อ และการลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ในสถานพยาบาลได้”
นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ (มหาชน) หนึ่งในนักธุรกิจที่ได้รับจดหมายเปิดผนึกจากนายกรัฐมนตรี ได้ชักชวนพันธมิตรร่วมมือกันในชื่อ “กลุ่มช่วยกัน” เปิดตัวแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองและรักษา ให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน ทั้งได้ติดตั้งอุปกรณ์กำจัดเชื้อโรค และเครื่องกรองอากาศในพื้นที่ส่วนกลางของโรงพยาบาล โดยตั้งเป้ากระจายไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศ ปรับปรุงรถพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อ และได้สนับสนุนงานวิจัย และพัฒนาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ด้านนวัตกรรม และงานวิจัยด้านสาธารณสุข สามารถผลิตชุดตรวจประสิทธิภาพสูง PSU COVID-19 คุณภาพสากล ต้นทุนในการตรวจต่ำ มาใช้ตรวจสอบโรคได้มากขึ้น ช่วยให้รู้สถานการณ์ที่แท้จริงของโรค และจัดการได้อย่างถูกต้อง
ดร.ประพล มิลินทจินดา รองประธานกรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการพาณิชย์ แสดงความมั่นใจว่า แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” และ “ชุดตรวจประสิทธิภาพ PSU COVID-19” จะเป็นเครื่องมือที่ดีที่จะใช้ต่อสู้ป้องกัน ควบคุม กำจัดเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมกับช่วยฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และสามารถนำไปใช้ในประเทศเพื่อนบ้านของเรา

ที่มา  : Manager online 28 เมษายน 2563 [https://mgronline.com/south/detail/9630000044393]