นักวิทยาศาสตร์ประกาศว่าพวกเขาประสบความสำเร็จในการกำจัดเชื้อ HIV ออกจากเซลล์ที่ติดเชื้อ โดยใช้เทคโนโลยีตัดต่อยีน "คริสเปอร์" (CRISPR) ที่ได้รับรางวัลโนเบล

.

เทคโนโลยีนี้ทำหน้าที่เสมือนเป็นกรรไกรในระดับโมเลกุล โดยตัดชิ้นส่วนสารพันธุกรรม (DNA) เพื่อให้ชิ้นส่วนดีเอ็นเอส่วนที่ "แย่" ถูกเอาออกไปหรือถูกปิดการทำงาน

.

ความหวังจากกระบวนการนี้ คือการกำจัดเชื้อไวรัสออกจากร่างกายได้ทั้งหมดในที่สุด ทว่ายังต้องมีการศึกษาอีกมากเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพของกระบวนการนี้

.

ยาต้านเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (HIV) ที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถหยุดการแพร่กระจายของเชื้อได้ แต่ยังไม่สามารถกำจัดเชื้อออกไปได้หมด

.

เทคโนโลยีตัดต่อยีน "คริสเปอร์" (CRISPR) ทำหน้าที่เสมือนเป็นกรรไกรในระดับโมเลกุล

ในการประชุมทางการแพทย์ในสัปดาห์นี้ ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัมได้นำเสนอภาพรวมของผลการวิจัยเบื้องต้น พวกเขาเน้นย้ำว่า งานวิจัยนี้ยังอยู่ในขั้น "พิสูจน์แนวคิด" (proof of concept) เท่านั้น และจะยังไม่กลายเป็นกระบวนการรักษา HIV ในเร็ว ๆ นี้

.

ดร.เจมส์ ดิกสัน รองศาสตราจารย์ด้านสเต็มเซลล์และเทคโนโลยียีนบำบัด จากมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม เห็นด้วย พร้อมชี้ว่าการค้นพบครั้งนี้ยังต้องได้รับการตรวจสอบ

.

"ยังคงต้องมีการทำงานวิจัยอีกมากเพื่อให้แน่ใจว่าผลลัพธ์ในห้องทดลองเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้กับร่างกายมนุษย์ทั้งหมดเพื่อพัฒนาเป็นการรักษาในอนาคต" เขากล่าว

.

"จะต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติมอีกมาก ก่อนที่เทคโนโลยีนี้จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์กับผู้ที่มีเชื้อ HIV"

.

"ท้าทายอย่างมาก"
มีนักวิทยาศาสตร์กลุ่มอื่น ๆ อีกที่พยายามใช้เทคโนโลยีคริสเปอร์เพื่อสู้กับเชื้อ HIV

.

บริษัท Excision BioTherapeutics กล่าวว่า ไม่พบผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายกับอาสาสมัคร 3 คนที่มีเชื้อ HIV หลังจากผ่านไป 48 สัปดาห์

.

ทว่า ดร.โจนาธาน สโตเย ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสจากสถาบัน Francis Crick Institute ในกรุงลอนดอน กล่าวว่า การกำจัดเชื้อ HIV ทั้งหมดออกจากเซลล์ซึ่งฝังตัวอยู่ในร่างกายเป็นเรื่อง "ท้าทายอย่างมาก"

.

"ผลกระทบที่ไม่ได้คาดไว้จากการรักษา รวมถึงผลข้างเคียงระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นได้ ยังคงเป็นความกังวลอยู่" เขากล่าว

.

"คงต้องใช้เวลาอีกหลายปีก่อนที่การรักษาด้วยคริสเปอร์จะกลายเป็นเรื่องสามัญ แม้ในกรณีที่เทคโนโลยีนี้จะแสดงให้เห็นว่ารักษาโรคได้ผลจริงก็ตาม"

.

ผู้ป่วย HIV ส่วนใหญ่ต้องการยาต้านเชื้อไวรัสตลอดชีวิต หากหยุดรับประทานยา เชื้ออาจกลับมาก่อปัญหาได้

เชื้อ HIV โจมตีเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกัน และใช้กลไกของตัวเองในการสร้างสำเนาตัวเองขึ้นมา

.

แม้จะมีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ แต่เชื้อบางส่วนจะเข้าสู่สภาวะพัก หรือ สภาวะแฝง ซึ่งหมายความว่าเซลล์เหล่านี้ยังคงมี DNA หรือสารพันธุกรรมของเชื้อ HIV อยู่ แม้ว่าจะไม่ได้ผลิตเชื้อไวรัสตัวใหม่ก็ตาม

.

ผู้ป่วย HIV ส่วนใหญ่ต้องการยาต้านเชื้อไวรัสตลอดชีวิต หากหยุดรับประทานยา เชื้อที่อยู่ในสภาวะแน่นิ่งสามารถตื่นขึ้นอีกครั้งและก่อปัญหาได้

.

มีผู้ติดเชื้อเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ได้รับ "การรักษาจนหาย" หลังจากที่พวกเขาเข้ารับการรักษามะเร็งแบบรุนแรงจนกำจัดเซลล์ที่ติดเชื้อบางส่วนออกไป แต่การรักษาแบบนี้ไม่ใช่วิธีการที่แนะนำสำหรับการรักษา HIV

ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c3g709dp9j1o