ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - เจ๋งมาก! ทีมนักวิจัย มทส. ร่วมกับทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยญี่ปุ่น พัฒนาเทคนิคการปลูกถ่ายเซลล์สืบพันธุ์ใน “ปลาสวาย” ได้เป็นผลสำเร็จครั้งแรกของไทย สามารถสร้างพ่อ-แม่พันธุ์ปลาสวายเผือกให้สามารถ “อุ้มบุญลูกปลาบึก” ได้ มุ่งต่อยอดอนุรักษ์พันธุ์ปลาหายากใกล้สูญพันธุ์

วันนี้ (8 ม.ค.) รศ.ดร.สุรินทร บุญอนันธนสาร หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางสัตว์ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เปิดเผยถึงที่มาของงานวิจัยการปลูกถ่ายเซลล์สืบพันธุ์ในปลา (Germ cell transplantation) หรือ ปลาสวายอุ้มบุญเป็นผลสำเร็จ ว่า สืบเนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัยทำให้สิ่งแวดล้อมทางน้ำในปัจจุบันมีความเสื่อมโทรม ภาวะแห้งแล้ง ทำให้ปลาในธรรมชาติลดลง ปลาหลายชนิดอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ นักวิชาการได้พัฒนางานวิจัยด้านต่าง ๆ เพื่อรักษาสายพันธุ์ปลา ให้คงความหลากหลายของสายพันธุ์ปลา
นอกจากนี้ ในการเพาะเลี้ยงปลาหลายชนิดยังมีปัญหาด้านการเพาะพันธุ์ เช่น ปลาขนาดใหญ่ต้องมีบ่อขนาดใหญ่ ต้องใช้น้ำมากจึงจะสามารถเพาะพันธุ์ปลาได้ ทีมนักวิจัย มทส.จึงร่วมมือกับทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัย Tokyo University of Marine Science and Technology ในประเทศญี่ปุ่น กว่า 5 ปี พัฒนาเทคนิคการปลูกถ่ายเซลล์สืบพันธุ์ในปลา โดยในขณะนี้สามารถสร้างพ่อ-แม่พันธุ์ปลาสวายที่สามารถอุ้มบุญลูกปลาบึกได้เป็นผลสำเร็จครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อลดข้อจำกัดและระยะเวลาในการขยายพันธุ์ตามธรรมชาติหรือการผสมเทียมที่ต้องใช้พื้นที่ในการอนุบาลและเพาะเลี้ยงขนาดใหญ่
ทีมวิจัยได้ทำการศึกษาวิจัยในกลุ่มปลาบึกและปลาสวาย โดยใช้ปลาบึกเป็นปลาผู้ให้ (donor fish) และปลาสวาย เป็นปลาผู้รับ (recipient fish) เนื่องจากปลาบึกเป็นปลาที่พบตามธรรมชาติในลุ่มแม่น้ำโขงและเป็นปลาขนาดใหญ่ที่มีข้อจำกัดในการใช้พื้นที่ในการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ และตามธรรมชาติยังมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนปลาสวายเป็นปลาที่มีสายวิวัฒนาการใกล้เคียงกับปลาบึก มีการเพาะเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย สามารถเพาะพันธุ์และอนุบาลปลาสวายได้ในบ่อเลี้ยงขนาดเล็ก
ในขั้นตอนของงานวิจัยจะสกัดเอาสเต็มเซลล์ (stem cell) จากอวัยวะสืบพันธุ์ปลาบึก เพื่อมาปลูกถ่ายในลูกปลาสวายเผือกวัยอ่อน อายุ 4-5 วัน แล้วเลี้ยงปลาสวายเผือกที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์สืบพันธุ์จนเป็น พ่อ-แม่ พันธุ์ และนำมาเพาะขยายพันธุ์ตามธรรมชาติในบ่ออนุบาล
ทั้งนี้ ในธรรมชาติปลาสวายเผือกจะให้ลูกปลาสวายเผือกที่ลำตัวมีสีขาวอมแดงทั้งหมด ซึ่งถ้าหากพ่อแม่พันธุ์ปลาสวายที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์สืบพันธุ์จากปลาบึกให้ลูกปลาที่มีสีเทาดำ (สีลำตัวปกติของปลาบึก) ร่วมกับปลาสีขาวอมแดงซึ่งเป็นปลาสวายเผือก ในครอกเดียวกันจะทำให้สามารถสังเกตได้ชัดเจนว่าปลาสวายเผือกได้อุ้มบุญปลาบึกเป็นผลสำเร็จ โดยเรียกปลาสวายเผือกที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์สืบพันธุ์และสามารถผลิตลูกปลาบึกได้ว่า พ่อแม่ปลาอุ้มบุญ (Surrogate broodstock)
ในการทดลองทีมวิจัยสามารถที่จะผลิตปลาอุ้มบุญที่สามารถผลิตลูกปลาบึกได้จำนวนหนึ่ง ทั้งนี้ ทีมวิจัยกำลังพัฒนาให้พ่อแม่ปลาอุ้มบุญสามารถอุ้มบุญลูกปลาบึกได้ 100% ในอนาคต และเตรียมต่อยอดงานวิจัยเพื่อการพัฒนาและอนุรักษ์พันธุ์ปลาหายากและใกล้สูญพันธุ์ต่อไป” รศ.ดร.สุรินทรกล่าวในตอนท้าย
อนึ่ง เกษตรกรและผู้สนใจสามารถที่จะเข้าชมนิทรรศการการปลูกถ่ายเซลล์สืบพันธุ์ในปลาหรือปลาสวายอุ้มบุญได้ในงานเกษตรแห่งชาติ ประจำปี 2563 ระหว่างวันที่ 10-9 มกราคม 2563 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา

ที่มา : Manager online 8 มกราคม 2562 [https://mgronline.com/local/detail/9630000002206]