หลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับการงดแจกถุงพลาสติกของห้างร้านมักจะอ้าง 1) ให้ไปแก้ที่ระบบจัดการขยะดีกว่า 2) รัฐยังปล่อยให้นำเข้าขยะพลาสติก ฯลฯ คือมีข้ออ้างต่างๆ นานาที่ตัวเองจะไม่ปรับพฤติกรรม

จริงๆ แล้วต้องทำหมดทุกมาตรการ และทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วย
มาตรการจัดการขยะที่ยั่งยืนจะต้องให้ความสำคัญกับการลดที่ต้นทาง (Reduce) ก่อน เหมือนการลดใช้ถุงพลาสติกก็เป็นต้นทางของผู้บริโภค แต่ให้ไกลกว่านั้น มันต้องไปปรับที่ต้นทางของการผลิตบรรจุภัณฑ์และตัวผลิตภัณฑ์เลย
รายงานล่าสุดของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้เสนอมาตรการต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้ได้ในแต่ละช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์
ตัวอย่างมาตรการที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการ คือ
1. ปรับปรุงการออกแบบผลิตภัณฑ์/บรรจุภัณฑ์ (eco-design) ให้ใช้วัสดุน้อยลงและสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลได้
2. ห้ามหรือจำกัดการใช้วัสดุที่ยากต่อการรีไซเคิล เช่น ห้ามผลิตถุงพลาสติกชนิดบาง ช้อนส้อมและหลอดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
3. จัดระบบแยกขยะที่ต้นทางและระบบจัดเก็บขยะแบบแยกประเภท (ต้องควบคู่กัน ไม่งั้นก็เจอวลีฮิตตลอดกาล "แยกไปก็เทรวมกันอยู่ดี")
4. การใช้หลักการ EPR ให้ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่ายเข้ามาช่วยจัดระบบเก็บรวบรวมขยะบรรจุภัณฑ์และซากผลิตภัณฑ์
5. เพิ่มสัดส่วนการใช้วัสดุรีไซเคิลในผลิตภัณฑ์ใหม่
6. ส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว
7. มาตรการห้ามนำเข้าขยะรีไซเคิลทุกประเภท อันนี้ Admin เห็นว่าต้องเร่งดำเนินการโดยด่วน (ตอนนี้ ภาครัฐก็ควบคุมการนำเข้าขยะพลาสติกแล้ว แต่ประเภทอื่นๆ ก็ต้องควบคุมหรือห้ามนำเข้าด้วย)
มาตรการเหล่านี้ไม่สามารถขอร้องให้ภาคเอกชนหรือประชาชนทำโดยสมัครใจ เพราะมันจะมีพวกที่ไม่ให้ความร่วมมือเยอะ ต้องอาศัยการออกกฎหมายเพื่อจัดระบบกติกาทางสังคมใหม่ ซึ่งอยากเสนอให้กรมควบคุมมลพิษ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยนำข้อเสนอนี้ไปใช้ในการยกร่างกฎหมายใหม่ด้วย
ข้อมูลอ้างอิง เพจ CHULA Zero Waste

ที่มา : Manager online 12 มกราคม 2563 [https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9630000003452]