อภ. เผยแนวคิด “กัญชา” รักษาโรค เริ่มหันไปทางสูตร “ค็อกเทล” ใช้สารหลายตัวจากดอกกัญชารักษานักวิชาการเกษตร ชี้ งานวิจัยระดับโลกพบใช้ดอกสกัดรักษามะเร็งในหนูได้ แต่ใช้สารเดี่ยวรักษาไม่ได้ และต้องเป็นเฉพาะสายพันธุ์ ชี้ เหมือนแพทย์แผนไทยที่เป็นองค์รวม ต้องค้นหาตำรับแต่ละสายพันธุ์

นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวถึงการนำ “กัญชา” มาใช้รักษาโรค ว่า ขณะนี้การนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์มี 2 แนวคิด คือ 1. คิดแบบแพทย์แผนปัจจุบัน ดูว่าสารสำคัญในกัญชาคืออะไร เช่น สาร THC และ CBD ที่จะต้องมีการพิสูจน์ว่า นำมาใช้บำบัดรักษาโรคอะไรได้ เหมือนกับยาเคมีปัจจุบันจะรู้ว่าตัวออกฤทธิ์คืออะไร และ 2. แนวคิดแบบองค์รวม คือ กัญชาไม่ได้มีแค่ THC และ CBD แต่ยังมีสารอื่นๆ อีก แล้วอาจจะเป็นการผสมกันเหมือนที่เรียกว่า ค็อกเทลมากกว่าหรือไม่ ซึ่งสารหลายๆ ตัวในกัญชาผสมกันแล้วถึงจะออกฤทธิ์ในการรักษาโรค
“อนาคตเริ่มออกมาแล้ว พันธุ์นี้มีสารสำคัญอย่างนี้รักษามะเร็งชนิดหนึ่ง แต่หากอีกสายพันธุ์หนึ่งอาจจะรักษามะเร็งอีกชนิดหนึ่ง เพราะอย่างโรคพาร์กินสันจะต้องใช้อัตราส่วน THC ต่อ CBD ในการรักษาที่อัตราส่วน 1:1 แต่ของไทยปรากฏว่า กัญชาเรามี THC สูง แต่ปรากฏว่า บางคนบอกว่าก็ใช้ได้ผลเหมือนกัน ซึ่งตอนนี้เมื่อมี 2 แนวคิดเช่นนี้ก็ต้องมาดูว่าเขาวิจัยอออกมาเป็นอย่างไร” นพ.โสภณ กล่าว
ผศ.ดร.วิเชียร กีรตินิจกาล อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้วิจัยพัฒนาสายพันธุ์กัญชาทางการแพทย์ให้แก่ อภ. กล่าวว่า ล่าสุด มีความเชื่อว่าต้องใช้กัญชาทั้งดอก และต้องแล้วแต่พันธุ์ด้วย ไม่ใช่ว่าสกัดเป็นสารเดี่ยวๆ มารักษา มีวารสารวิชาการล่าสุดที่ชมเชยว่าเป็นวารสารแห่งปีของสเปนออกมา พบว่า การใช้สารสกัดกัญชาเดี่ยวๆ รักษามะเร็งเต้านมในหนูไม่สำเร็จ แต่พอสกัดทั้งดอกและต้องเป็นพันธุ์เฉพาะพันธุ์นี้ด้วย ปรากฏว่า เห็นผลชัด เลยมีความเชื่อว่าต่อไปนี้จะต้องเฉพาะเลยว่าเป็นพันธุ์นี้แล้วต้องสกัดทั้งดอก เพราะกัญชาไม่ได้มีแค่สาร THC และ CBD แต่ยังมีตัวอื่นด้วย มองคล้ายๆ ก็เหมือนแพทย์แผนไทย ในต้นกัญชาแต่ละต้นเหมือนกับเป็นองค์รวม เราก็ต้องหาตำรับในแต่ละต้นให้ได้

ที่มา : Manager online 18 ธันวาคม 2561 [https://mgronline.com/qol/detail/9610000125223]