มหาวิทยาลัยและศูนย์การแพทย์ในสหรัฐ จีน และออสเตรเลีย ที่กำลังมองหาแนวทางคิดค้นวัคซีนและเทคนิครักษาโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคที่มีสาเหตุจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่

ศูนย์การแพทย์แวนเดอร์บิลท์ ยูนิเวอร์ซิตี เมดิคัล เซนเตอร์ (วียูเอ็มซี) และบริษัทเจนสคริปต์ ไชนา กำลังใช้เทคโนโลยีกรรมสิทธิ์ของบริษัทเบิร์กเลย์ ไลท์โดยเป็นแพลตฟอร์มของไหลเชิงแสง (optofluidic) ที่มีชื่อรุ่นว่าบีคอนในการคัดกรองตัวอย่างเลือดของผู้ป่วย เพื่อหาแอนติบอดีที่จำเป็นและนำไปใช้พัฒนาแนวทางจัดการกับไวรัสโคโรน่า
ขณะเดียวกัน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยควีนสแลนด์ในออสเตรเลีย กำลังประเมินประสิทธิภาพของแพลตฟอร์มบีคอนเช่นเดียวกัน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือเร่งความก้าวหน้าของโครงการผลิตวัคซีนแบบรีคอมบิแนนท์ซับยูนิต
ดร. โรเบิร์ต คาร์นาฮาน หัวหน้าโปรเจกต์ประจำห้องปฏิบัติการโครว์แล็บในสังกัดศูนย์การแพทย์วียูเอ็มซี เปิดเผยว่า แพลตฟอร์มดังกล่าวช่วยให้สำรวจแอนติบอดีที่มีศักยภาพป้องกันโรคได้หลากหลายยิ่งขึ้น และช่วยให้เร่งหาแอนติบอดีที่ดีที่สุดได้เร็วขึ้นด้วย
ด้านดร. เทรนต์ มันโร ผู้อำนวยการศูนย์เนชั่นแนล ไบโอโลจิก แฟซิลิตี และผู้อำนวยการโครงการวัคซีน แรพิด เรสปอนส์ ในสังกัดมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ เปิดเผยว่า แพลตฟอร์มดังกล่าวน่าจะทำให้ทางทีมวิจัยมีศักยภาพพร้อมผลิตได้เร็วขึ้นกว่าการใช้แนวทางเดิม ๆ ซึ่งคาดว่าจะช่วยร่นเวลาในการดำเนินงานได้หลายเดือน
ส่วนบริษัทเจนสคริปต์ของจีน ประสบความสำเร็จในการคัดกรองและระบุแอนติบอดีสำหรับโควิด-19 ภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงจากการใช้แพลตฟอร์มบีคอน ซึ่งปกติแล้ว ขั้นตอนดังกล่าวใช้เวลาถึง 3 เดือนเมื่อใช้เทคนิคทั่วไป
ทั้งนี้ ความสำเร็จดังกล่าวจึงนับเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ เพื่อให้ต่อสู้กับการแพร่ระบาดได้เร็วขึ้น และเฟ้นหาแนวทางรักษาและป้องกันโรคได้สำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวรัสโคโรน่า

ที่มา : Bangkokbiznews 2 มีนาคม 2563  [https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/868697?utm_source=homepage&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=corona]