“สุวิทย์” ชี้ 15 มหาวิทยาลัยภาคใต้ตอนล่างต้องพลิกโฉมใหม่เป็นที่พึ่งของประชาชนให้ได้ ต้องสร้างสังคมที่เป็นธรรม-โอกาส-สามารถ-เกื้อกูลแบ่งปัน เผยรวมศูนย์อำนาจที่ อว.ไม่ตอบโจทย์ประเทศ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาพร้อมลุยยุวชนสร้างชาติ ชูสมาร์ทฟาร์มเมอร์ อาหาร ท่องเที่ยว เผยนักเรียน 3 จังหวัดชายแดนใต้คะแนโอเน็ตต่ำสุดของประเทศ อยากได้ครูเพิ่ม

เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 63 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จ.ยะลา ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่ประชุม “บทบาทของมหาวิทยาลัยกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” มี รศ.ดร.โชติช่วง พันธุเวช นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และอธิการบดีจาก 15 มหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างเข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ ดร.สุวิทย์ได้ให้นโยบายว่า 15 มหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างจะต้องเป็นที่พึ่งของประชาชน โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่มหาวิทยาลัยจะต้องเป็นทัพหน้าพัฒนาประเทศไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 นำองค์ความรู้ไปสู่พื้นที่อย่างจริงจัง เพราะการรวมศูนย์ที่กระทรวงไม่ตอบโจทย์การพัฒนาพื้นที่ ที่สำคัญในพื้นที่ภาคใต้เราไม่ควรมองจากปัญหาแต่ให้มองจากศักยภาพและโอกาส ภาคใต้ถือเป็นศูนย์กลางภูมิเศรษฐศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์ของอาเซียน เพราะมี 2 มหาสมุทรขนาบข้าง 2 ด้านทั้งอ่าวไทยและอันดามัน มีศักยภาพทั้งด้านที่ตั้งและทรัพยากร ดังนั้น มหาวิทยาลัยจะต้องสร้างสังคมที่เป็นธรรม สร้างสังคมแห่งโอกาส สร้างสังคมที่สามารถ และสร้างสังคมที่เกื้อกูลและแบ่งปัน เพื่อที่จะนำไปสู่การพัฒนาเป็นด้ามขวาน 4.0
รมว.อว.กล่าวต่อว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยมีโอกาสแล้วที่จะนำองค์ความรู้ไปสร้างคนผ่านโครงการยุวชนสร้างชาติ ทั้งยุวชนอาสา บัณฑิตอาสา และยุวสตาร์ทอัพที่ขณะนี้ได้เริ่มแล้ว เอาพลังของคนหนุ่มสาวในมหาวิทยาลัยไปทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่ นอกจากนี้ อว.กำลังดำเนินโครงการบีซีจี โมเดล ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศ โดย อว. จะเอาภาคใต้เป็นต้นแบบของบีซีจี โมเดล เพราะเสน่ห์ของภาคใต้คือการเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมาก สามารถต่อยอดทางเลือกของการเกษตร อาหาร พลังงาน การแพทย์ ท่องเที่ยว เพื่อยกระดับเป็นเซาท์เทิร์นบีซีจี
“ที่สำคัญ การจะไปสู่เซาท์เทิร์นบีซีจีได้หรือการผลักดันโครงการยุวชนสร้างชาติให้สำเร็จได้ มหาวิทยาลัยต้องยกเครื่องตนเอง ต้องมีตัวตน ไม่ใช่ทุกมหาวิทยาลัยเหมือนกันทั้งหมด ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยเหมือนกันหมด มหาวิทยาลัยใดเปิดคณะใหม่ก็จะเปิดตามกัน ซึ่งจะทำให้มหาวิทยาลัยลงเหว ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง มหาวิทยาลัยต้องสร้างตัวตน ค้นหาตัวเองให้ได้ ว่ามหาวิทยาลัยทุกแห่งล้วนมีศักยภาพของตัวเอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ก็ไม่ได้แตกต่างจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยราชภัฏก็มีความโดดเด่นในเรื่องของการพัฒนาเชิงพื้นที่ ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกมหาวิทยาลัยจะต้องพลิกโฉมมหาวิทยาลัยใหม่” ดร.สุวิทย์กล่าว
ด้าน รศ.ดร.โชติช่วง พันธุเวช นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลากล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏในพื้นที่ภาคใต้มีความพร้อมที่จะเดินหน้าโครงการยุวชนสร้างชาติ โดยเฉพาะเรื่องสมาร์ทฟาร์มเมอร์ และอาหารสร้างสรรค์ รวมทั้งเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ โดยการชูพื้นที่ อ.เบตง มาเป็นพื้นที่นำร่อง เพื่อที่จะขยายไปสู่พื้นที่อื่นต่อไป นอกจากนี้ ในพื้นที่ภาคใต้โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องการมากที่สุดคือครูสอนภาษา เพราะคะแนนโอเน็ตของเด็ก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้คะแนนต่ำที่สุดในประเทศไทย ดังนั้น ต้องพัฒนาภาษาสำหรับการสื่อสาร เพราะถ้านักเรียนอ่านโจทย์ไม่ออกก็ทำข้อสอบไม่ได้
พร้อมกันนี้ 15 มหาวิทยาลัยภาคใต้ตอนล่างยังให้กำลังใจ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ โดย รศ.ดร.โชติช่วงกล่าวว่า ไม่อยากให้ ดร.สุวิทย์ถูกปรับพ้นจากคณะรัฐมนตรี พร้อมนำดอกไม้มามอบให้กำลังใจ และบอกว่าถ้าเอาการเมืองแบบเดิมมานำ การปฏิรูป อว. และมหาวิทยาลัยจะไม่สำเร็จ นานๆ จะมีรัฐมนตรีแบบนี้ที่มีความรู้ ความสามารถและความเข้าใจในเรื่องของการเปลี่ยนแปลง จึงไม่อยากให้การเมืองแบบเก่ามาทำลาย ขอให้กำลังใจ ดร.สุวิทย์
ด้าน ดร.สุวิทย์ให้สัมภาษณ์ว่า การปรับ ครม. จะมีตนอยู่ใน ครม. ใหม่หรือไม่ ไม่ใช่ประเด็น ตนอยู่ตรงไหนก็สามารถทำงานได้ ทุกอย่างอยู่ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นคนตัดสินใจ แต่การปรับ ครม.ที่เกิดขึ้นจะต้องตอบโจทย์ประเทศ ไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องวิกฤตซ้อนวิกฤต เรามีทั้งปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาโควิด-19 ปัญหา PM2.5 และปัญหาภัยแล้ง ดังนั้น การปรับ ครม. ต้องตอบโจทย์วิกฤตของประเทศ รวมทั้งเป็นการปรับ ครม. เพื่อนำพาประเทศไทยเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านเพื่อแข่งขันกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ได้
เมื่อถามถึงการชุมนุมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยหรือแฟรชม็อบ ดร.สุวิทย์กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย การคิดต่างไม่ใช่เรื่องผิดและไม่ใช่ความขัดแย้ง ที่สำคัญเยาวชน นิสิต นักศึกษา ในมหาวิทยาลัยคือคนกำหนดอนาคตของประเทศ พวกเขามีความคิดอ่าน ดังนั้น มหาวิทยาลัยต้องเปิดเวทีให้นักศึกษาได้แสดงออกตราบใดที่พวกเขายังไม่ละเมิดกฎหมาย ผู้ใหญ่ต้องฟังให้มากสำหรับความคิดเห็นของนักศึกษา ไม่ทำตัวเป็นผู้ใหญ่รู้ดี ตนได้ให้นโยบายกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยให้นักศึกษา ต้องมองว่าพวกเขาเป็นลูกหลาน
เมื่อถามว่าคิดว่าเหตุการณ์การชุมนุมจะบานปลายขยายวงออกไปมากขึ้นหรือไม่ ดร.สุวิทย์กล่าวว่า คงไม่บานปลายถ้าผู้ใหญ่ฟัง และในเร็วๆ นี้ตนจะเชิญแกนนำนักศึกษาทั้งหมดมาร่วมเวทีเพื่อรับฟังปัญหาและให้พูดถึงทางออกและคำตอบในการแก้ไขปัญหาด้วย

ที่มา : Manager online 02 มีนาคม 2563  [https://mgronline.com/science/detail/9630000021198]