เนคเทคปลื้มนักวิจัยในสังกัดรับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติถึง 4 รางวัล โดย “เครื่องช่วยฟังควบคุมด้วยสัญญาณสมอง” ได้รางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้นระดับดีมาก


ภายในงาน “งานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2562 (Thailand Inventors’ Day 2019)” ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ระหว่างวันที่ 2 – 6 กุมภาพันธ์ 2562 ณ Event Hall 102 – 104 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร มีพิธีมอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ได้แก่ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปี 2562 และรางวัล 2018 TWAS Prize for Young Scientists in Thailand
ในโอกาสนี้ ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) ร่วมแสดงความยินดี กับทีมวิจัยและนักวิเคราะห์เนคเทคที่คว้ารางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น รางวัลระดับดี รางวัลประกาศเกียรติคุณ และ ระวัลระดับดีวิทยานิพนธ์ ในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2562 อีกด้วย
รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น จำนวน 3 รางวัล ได้แก่
รางวัลระดับดีมาก
1.ผลงานเรื่อง “เครื่องช่วยฟังควบคุมด้วยสัญญาณสมอง” (Brain-Controlled Hearing Aid) เป็นเครื่องช่วยฟังหรืออุปกรณ์ช่วยการได้ยินที่ทำงานร่วมกับ EEG sensor เพื่อใช้การตีความสภาวะการทำงานของสมองสนับสนุนการทำงานเพื่อปรับคุณภาพเสียงที่ได้ยิน สามารถปรับตัวเข้าสู่รูปแบบที่เหมาะสมกรณีเน้นการสนทนาได้โดยอัตโนมัติ และปรับตัวสู่รูปแบบอื่นในสภาวะปรกติ หรือควบคุมโดยการกระพริบตา ทำให้มีความสะดวกและมีคุณภาพการได้ยินที่ดีในสภาวะหลากหลาย จุดเด่น ช่วยลดเสียงรบกวนระหว่างการสนทนาโดยอัตโนมัติหรือในรูปแบบที่สะดวกในการควบคุม โดยใช้เทคนิคการตีความสภาวะการทำงานของสมองเพื่อปรับรูปแบบการทำงาน
พัฒนาโดย ดร.พศิน อิศรเสนา ณ อยุธยา, นายอนุกูล น้อยไม้, นายธราพงษ์ สูญราช, นายสังวรณ์ สีสุทัศน์ และนายกริช จั่นอาจ
2.ผลงานเรื่อง “แพลตฟอร์มสื่อสารเพื่อเชื่อมต่อทุกสรรพสิ่ง” (Network Platform for Internet of Everything: NETPIE)NETPIE คือ Cloud Platform ที่ให้บริการในรูปแบบ Platform-as-a-Service สำหรับอำนวยความสะดวกให้กับนักพัฒนาสามารถพัฒนาให้อุปกรณ์ของตัวเองเชื่อมต่อ แลกเปลี่ยนข้อมูล และมีปฏิสัมพันธ์กันได้ในแบบ Internet of Things NETPIE จะช่วยดูแลการเชื่อมต่อของอุปกรณ์ต่างๆ ช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัย (Security) ความพร้อมใช้ (Availability) และการขยายตัวของระบบ (Scalability) นักพัฒนาจึงไม่ต้องกังวลเรื่องการบริหารจัดการระบบและการสื่อสารที่อยู่เบื้องหลัง พัฒนาโดย ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์, นายชาวีร์ อิสริยภัทร์, นางสาวเปรมฤดี เอี่ยมสุภัคกุล, นายอนันท์ ปัญญา, นายชัยวิทย์ แสนทวีสุข, นายสิรวิชญ์ มูลรินต๊ะ, ดร.เอมอัชนา นิรันตสุขรัตน์, ดร.กุลชาติ มีทรัพย์หลาก, นายอรรถกร ศิริสุวรรณ, นางสาววัลภา สูญราช, นางสาวสาธิต มุกดา และ นางสาววิชชุดา เอกพันธ์
รางวัลประกาศเกียรติคุณ 1. “ทันระบาด: ชุดซอฟต์แวรสนับสนุนการเฝ้าระวังและควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออก” (TanRabad: Software Suite for Dengue Epidemic Surveillance and Control) เครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการป้องกันควบคุมการระบาดของโรคติดต่อ โดยปัจจุบันนำร่องที่โรคไข้เลือดออก ประกอบด้วย 4 แอพพลิเคชันหลัก ได้แก่ - ทันระบาดสำรวจ (TanRabad-SURVEY) สนับสนุนการบันทึกข้อมูลการสำรวจลูกน้ำยุงลาย ระบุพิกัดสถานที่ และรายงานค่าดัชนีทางกีฏวิทยาทันที พร้อมจัดเก็บข้อมูลบน Cloud - ทันระบาดติดตาม (TanRabad-WATCH) นำเสนอสถานการณ์ระบาดของโรคติดต่อและดัชนีทางกีฏวิทยาแบบเรียลไทม์ ในรูปแผนที่ และตาราง - ทันระบาดรายงาน (TanRabad-REPORT) สนับสนุนการสร้างรายงานการระบาดของโรคติดต่อและดัชนีทางกีฏวิทยาที่มีการใช้งานอยู่เป็นประจำ ในรูปกราฟ ตาราง และแผนที่ - ทันระบาดวิเคราะห์ (TanRabad-BI) สนับสนุนการสร้างรายงานเชิงวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโรคและดัชนีทางกีฏวิทยาตามมุมมองที่สนใจ พัฒนาโดย ดร.นัยนา สหเวชภัณฑ์, นายวิศิษฐ์ วงศ์วิไล, นายวัชรากร หนูทอง, นายสุริยะ อุรุเอกโอฬาร, นางสาวนิธิภัทร ว่องวิชัย, นางสาวอสมาภรณ์ ฉัตรัตติกรณ์, นางสาวลดาวัลย์ กลิ่นกุสุม, นางคำรณ อรุณเรื่อ, นายจักรพงค์ พลหาญ, นางสาวพรทิวา โชคสูงเนิน, นายพิรุณ พานิชผล, นายมโนชญ์ รัตนเนนย์, ดร.นายแพทย์ โสภณ เอี่ยมศิริถาวร, แพทย์หญิง ดารินทร์ อารีย์โชคชัย และ นายพงศกร สดากร
รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี หัวข้อ: ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจดำเนินธุรกิจ Remanufacturing: กรณีศึกษาอุตสาหกรรมไทย (Factors Influencing a Firm’s Decision to Conduct Remanufacturing: Evidence from the Thai Industries) โดย ดร. จิรพรรณ เชาวนพงษ์ วิทยานิพนธ์ดังกล่าวศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจทำธุรกิจ Remanufacturing ของบริษัทใน 3 อุตสาหกรรมหลักของไทย ได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องถ่ายเอกสาร และเครื่องจักรกลการเกษตร ผลการศึกษาโดยสรุปพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วในทุกอุตสาหกรรม กรณีศึกษาประเทศไทย ปัจจัยหลักที่มีผลต่อการตัดสินใจทำธุรกิจนี้มากที่สุด ได้แก่ ความเป็นไปได้ทางธุรกิจ (Business Feasibility) รองลงมาคือ ปัจจัยทางกลยุทธ์ของบริษัท (Firm’s Strategic Factors) และปัจจัยทางนโยบาย (Policy Factors) ตามลำดับ โดยปัจจัยย่อยภายใต้ความเป็นไปได้ทางธุรกิจ ได้แก่ ผลกระทบทางการเงิน (Financial Aspects) มีผลต่อการตัดสินใจทำธุรกิจนี้มากที่สุด ที่สำคัญรองลงมาคือ คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ (Product Maturity) แรงงานมีฝีมือ (Availability of Skilled Workers) และเทคโนโลยีเพื่อ Remanufacturing (Technical Aspects) ทั้งนี้ปัจจัยย่อย ได้แก่ กฎหมายทางด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้ปัจจัยทางนโยบาย (Policy Factors) มีความสำคัญน้อยที่สุดต่อการตัดสินใจทำธุรกิจ Remanufacturing

ที่มา : Manager online 05 กุมภาพันธ์ 2562  (https://mgronline.com/science/detail/9620000012397)