รพ.พระมงกุฎเกล้า เปิดตัว “หอผู้ป่วยรวม และหอผู้ป่วย ICU ความดันลบ” ระบบ Fresh Air 100% ตามมาตรฐาน WHO รองรับผู้ป่วย Covid-19 จำนวนมากแห่งแรกของประเทศไทย

พร้อมเดินหน้าปรับปรุงห้องผ่านตัดชนิดปรับความดันต่อไป เผยเป็นความสำเร็จจากความร่วมมือของภาครัฐ สถาบันการศึกษาโดยมหาวิทยาลัยมจธ.-มหิดล กับภาคเอกชนโดยบ.ซัยโจเดนจิ และเป็นต้นแบบพัฒนาเทคโนโลยีในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อก้าวผ่านวิกฤต
พล.อ.ณฐพนธ์ ศรีสวัสดิ์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก พล.ท.ชาญชัย ติกขะปัญโญ เจ้ากรมแพทย์ทหารบก พล.ต.สุพัษชัย เมฆะสุวรรณดิษฐ์ ผู้อํานวยการโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19) หรือ ศบค. และนายสมศักดิ์ จิตติพลังศรี กรรมการผู้จัดการบริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตนวัตกรรมเพื่อภาครัฐ นายเอกมล เจียรประดิษฐ์ สมาคมวิศวกรรมปรับอากาศแห่งประเทศไทย และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้าร่วมประชุมหารือ และเยี่ยมชม “หอผู้ป่วยรวมความดันลบ”(Cohortward Negative Pressure) และ “หอผู้ป่วย ICU ความดันลบ” ของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ที่จัดเตรียมไว้เพื่อรองรับผู้ป่วย โควิด-19
หอผู้ป่วยฯ ดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษาโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และภาคเอกชน โดย บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ด้วยการนำอาคารผู้ป่วยเดิมซึ่งเป็นอาคารเก่า มาปรับปรุงเป็นหอผู้ป่วย Covid-19 ติดตั้งระบบเทคโนโลยีการนํา Fresh Air 100% ไม่ใช้ระบบแอร์หมุนวนแบบทั่วไป และจัดทําเป็นห้อง True Negative Pressure เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อบุคลากร อีกทั้ง ยังสามารถควบคุมความเย็น และความชื้นในหอผู้ป่วย ตามมาตรฐานของ WHO และ CDC
รวมถึงการให้ความสําคัญกับการกําจัดอากาศเสียจากหอผู้ป่วย ด้วยการต่อท่อ Exhaust Air กรองด้วย HEPA Filter ในทุกเตียงของผู้ป่วย เพื่อคืนบรรยากาศที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม โดยผ่านการตรวจสอบระบบหมุนเวียนอากาศ (Air Change) การควบคุมความดันลบ ความชื้นได้ค่าสูงกว่ามาตรฐาน (-3.5Pa 14ACH) การประหยัดค่าไฟด้วยระบบ Inverter การทดสอบการกำจัดความชื้น จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
แม้ว่าการปรับปรุงอาคารเก่าของรพ.พระมงกุฎเกล้ามีข้อจำกัดต่างๆ มากมาย แต่จากการที่บริษัทซัยโจเดนกิ และมหาวิทยาลัย ร่วมกันวางแผนใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตเครื่องปรับอากาศ และควบคุมความชื้นให้อยู่ในที่เดียวกัน เพื่อลดระยะเวลาการติดตั้ง โดยใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์เท่านั้น อาคารดังกล่าวนี้ ปรับปรุงอย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐาน WHO ในการรองรับผู้ป่วย Covid-19 จํานวนมาก (Cohort ward) แห่งแรกของประเทศไทย และกําลังพัฒนาต่อไปเพื่อปรับปรุงห้องผ่าตัดชนิดปรับความดัน
ความสําเร็จนี้ ถือเป็นตัวอย่างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคมหาวิทยาลัย และภาคเอกชนไทย ที่จะเป็นต้นแบบในการพัฒนาเทคโนโลยีเมื่อเกิดสถานการณ์ต่าง เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมและผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ

ที่มา : Manager online 22 เมษายน 2563 [https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9630000041906]