จากรายงานการศึกษาของ HUFFPOST เมื่อไม่นานนี้ กล่าวถึงความก้าวหน้าของการบริหารปัญหาขยะของไต้หวัน ที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับสมญานามว่า เกาะแห่งขยะ (Garbage Island) จนมาถึงวันนี้สามารถลดขยะได้ถึง 30%

ความสำเร็จการบริหารปัญหาขยะของไต้หวัน มาจากการร่วมมือร่วมแรงของคนในเกาะในการคัดแยกขยะแต่แรก สีน้ำเงินสำหรับขยะทิ้ง สีขาวสำหรับขยะรีไซเคิล และวงจรการคัดแยกการจัดการ 5 คืนต่อสัปดาห์ให้เป็นขยะประเภทเดียวกัน อย่างพลาสติก กระดาษ แก้ว โลหะ อาหารดิบจะแยกไปอีกทาง ส่วนอาหารที่เหลือทิ้งหลังกินแล้วจะไปเป็นอาหารหมู
ในช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 ไต้หวันเคยได้ชื่อว่าเป็นเมืองใหญ่ที่มีปัญหาขยะร้ายแรงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง จนได้สมญานามว่า “เกาะแห่งขยะ” เพียงยี่สิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลไต้หวันปฏิวัติโครงสร้างพื้นฐานสำหรับขยะของเกาะจากรากฐานสู่สาขา ลงทุนในรถขนขยะและโรงงานรีไซเคิล พร้อมกับออกกฎหมายใหม่ให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนมีส่วนร่วมกันในการรับภาระบริหารทางกายภาพของขยะและภาระรายจ่ายทางการเงินในการรีไซเคิล และการเก็บขยะรูปแบบใหม่กำหนดความรับผิดชอบระดับปัจเจกชน และให้สิทธิประโยชน์และแรงจูงใจกับครัวเรือนที่สร้างขยะลดลง
วันนี้ ไต้หวันก้าวไปถึงจุดที่อัตราการรีไซเคิลสูงถึง 55% นับว่าสูงที่สุดประเทศหนึ่งของโลกจากอัตรา 0% เมื่อ 30 ปีก่อนหน้า ขณะที่สหรัฐยังทำได้ต่ำกว่า คือ เพียง 34.7% และสหภาพยุโรปทำได้เพียง 46% เท่านั้น
ซึ่งเท่ากับว่าชาวไต้หวัน 1 คน สร้างขยะต่อวัน 850 กรัม หรือราว 1.9 ปอนด์เท่านั้น ลดลงจาก 1.0 กิโลกรัม หรือ 2.6 ปอนด์ เมื่อ 15 ปีก่อน เทียบกับสหรัฐที่บุคคลมีอัตราการผลิตขยะเฉลี่ย 4.4 ปอนด์ต่อคนต่อวันในปี 2013 และในปีนี้ไต้หวันได้ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง สู่การยึดมั่นร่วมกันที่จะแบนการใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งทั้งหมด ทั้งถุงพลาสติก แก้วพลาสติกภายในปี 2030
ขณะที่นักรณรงค์ทั่วโลกและผู้กำหนดนโยบายเร่งรัดให้ทั่วโลกหาแนวทางในการจัดการขยะแบบยั่งยืน มีสิ่งที่น่าสนใจคือ
ประการแรก ไต้หวันสามารถเป็นข้อพิสูจน์ที่สาธิตถึงการแสวงหาวิธีการดำเนินงานในภาคปฏิบัติได้จริง และในทางกลับกัน การจัดระเบียบการจัดการขยะมาจากการผลักดันของสังคมครัวเรือนและภาคธุรกิจที่มีต่อภาครัฐบาลในการจัดลำดับความสำคัญเรื่องการบริหารขยะในลำดับสูง
ประการที่สอง บทเรียนกรณีของไต้หวันบอกชัดเจนว่าประชาคมในเมืองหลักที่เต็มไปด้วยคนมั่งคั่ง ร่ำรวย ที่เคยถูกมองว่าไม่แยแสกับการบริหารจัดการขยะเป็นเรื่องไม่จริง และสามารถก้าวขึ้นมาเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลในสังคมในการลดปริมาณและสัดส่วนของขยะลงได้
ประการที่สาม
หลายสิบปีที่ผ่านมานับจากทศวรรษ 1980 ไต้หวันปกครองประเทศจากผู้นำการทหารที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทำให้ประเทศมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดด ทำให้สังคมแบบเมืองหลักขยายออกไปอย่างมากมาย พร้อมกับสัดส่วนของกลุ่มคนที่มีความมั่งคั่ง เป็นเศรษฐีใหม่ จนขยะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ประการที่สี่ ไต้หวันเริ่มต้นการสร้าง “สงครามขยะ” ในการกดดันการปรับปรุงจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากยกเลิกการรัฐประหาร และเปิดให้พรรคการเมืองเข้าไปบริหารประเทศ โดยกลุ่มแม่บ้านได้รวมตัวกันในนาม Homemakers United Foundation จนกลายเป็นกลุ่มทรงอิทธิพลที่กดดันให้ทำความสะอาดไต้หวันทั้งประเทศใหม่
บทบาทของกลุ่มรณรงค์นี้คือ ตระเวนเดินทางไปทั่วผืนดินทุกจุดในไต้หวัน ตรวจสอบสภาพน้ำในแหล่งน้ำเพื่อให้แน่ใจไม่มีการแอบเอาขยะไปทิ้งตามแหล่งน้ำ มีการสำรวจและวิจัยว่ามีการผลกระทบทางลบใดบ้างจากปัญหาขยะในประเทศ และนำผลการศึกษากลับไปยื่นต่อหน่วยงานที่ปกป้องสิ่งแวดล้อมให้ทำการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ควบคู่กับการตระเวนไปในประชาคมทำการชี้แจง สร้างความตระหนักให้กับผู้คนถึงประโยชน์ของการใช้ซ้ำและรีไซเคิลขยะ และกระตุ้นพฤติกรรมการสร้างขยะให้น้อยที่สุด
ประการที่ห้า ไต้หวันสร้างผลิตภัณฑ์กรีนขึ้นมาทดแทนมากมาย ตั้งแต่สบู่ไปจนถึงผลิตภัณฑ์มากมาย เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่ปฏิบัติได้จริง ไปจนถึงการเอาขยะพลาสติกไปแลกเป็นเครดิตในการโดยสารรถโดยสารสาธารณะฟรี
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากโมเดลการบริหารขยะของไต้หวัน ควรจะใช้เป็นแรงบันดาลใจและไม่ยอมรับการแก้ตัวใดๆ ที่จะทำให้การจัดการขยะไม่สามารถทำได้จริง เพราะประชากรทั้งประเทศที่มีราว 24 ล้านคนที่น้อยกว่าประชากรของเท็กซัส ได้พิสูจน์แล้วว่านโยบายที่ร่วมมือร่วมแรงกันทั้งภาคธุรกิจ ภาคครัวเรือน ที่จะรับผิดชอบต่อขยะที่ตนสร้างขึ้น และสามารถปรับลดปริมาณขยะ 100% ได้จริง รวมทั้งยอมรับภาระรายจ่ายจากขยะที่ตนสร้างขึ้น

ที่มา : Manager online 13 สิงหาคม 2562  [https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9620000077130]