ตะเกียบชีวภาพ หรือ "ตะเกียบกินได้" คิดค้นโดยนักศึกษาวิศวกรรมอาหาร ลาดกระบัง มีการพัฒนาต่อยอดจากช่วงแรกที่เคยมีบรรจุภัณฑ์เป็นห่อพลาสติก ล่าสุดเปลี่ยนมาใช้ซองทำด้วยกระดาษแทน เพื่อตอกย้ำถึงนวัตกรรมที่ช่วยลดการสร้างขยะพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อม

นวัตกรรมเจ๋งๆ ชิ้นนี้ เป็นผลงานร่วมกันของนายปวัชร เพ็งสุขแสง นายรชานนท์ แซ่ตั้ง และ นางสาวสกุลรญา สินถิรมั่น นักศึกษาชั้นปีที่ 4 นักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่หวังลดปริมาณขยะใช้ครั้งเดียวทิ้งที่แต่ละวันมีจำนวนมาก
พวกเขาได้แนวความคิดมาจากประเทศญี่ปุ่น อินเดียและเม็กซิโก ที่มีการผลิตช้อน ชาม กินได้มาก่อน จึงวางเป้าหมายการคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่จะลดขยะใช้ครั้งเดียวทิ้งที่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติ ทำเป็นปุ๋ย และเป็นอาหารสัตว์ก็ได้ ใช้เวลาในการศึกษานาน 8 เดือน
ตะเกียบกินได้ทำมาจากแป้งข้าวโพด 57% แป้งถั่วเหลือง 30% สารทำให้เกิดความชื้น (INS 422) สารทำให้คงตัว (INS 412) และสารป้องกันการจับเป็นก้อน (INS 470(III)) ซึ่งสารผสมทั้งหมดไม่เกินค่ามาตรฐานของ อย. ทั้งยังมีกลิ่นเหมือนน้ำเต้าหู้ รสชาติจืด ไม่ทำให้รสชาติอาหารเปลี่ยน
ตะเกียบมีลักษณะค่อนข้างแข็ง และหนากว่าตะเกียบทั่วไป โดยขนาดความยาว 20 เซนติเมตร ปลายใหญ่และกว้าง 0.9 เซนติเมตร ปลายเล็กกว้าง 0.7 เซนติเมตร และหนา 0.6 เซนติเมตร เมื่อโดนน้ำ บริเวณที่โดนน้ำก็จะเปื่อยและนิ่มขึ้น จนสามารถทานไปพร้อมกับอาหาร หรือพอทิ้งก็จะย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ
ตะเกียบนวัตกรรมฝีมือนักศึกษาสามารถใช้รับประทานก๋วยเตี๋ยว โดยมีระยะเวลาการใช้งาน 10 นาทีเป็นอย่างต่ำ โดนน้ำหรือนำไปจุ่มน้ำในอุณหภูมิ 75 องศาเซลเซียส ได้ประมาณ 3 นาที มีต้นทุนคู่ละ 1 บาท หากผลิตเป็นจานจะมีต้นทุนสูงใบละ 5 บาท
น้องๆ นักศึกษากลุ่มนี้ตั้งเป้าหมายพัฒนาต่อยอด โดยการใส่สารเคลือบป้องกันน้ำ พัฒนารสชาติ และเพิ่มอายุการใช้งานให้มากขึ้น และล่าสุดก็ได้เปลี่ยนจากการใช้พลาสติกห่อหุ้มมาเป็นกระซองกระดาษแทน เพื่อลดการสร้างขยะพลาสติก และกำลังต่อยอดไปสู่การร่วมมือภาคเอกชนสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อการจำหน่ายด้วย

ที่มา : Manager online 28 ตุลาคม 2562  [https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9620000103599]