Same-sex mice have babies. Photo: BBC

นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่น สร้างหนูขึ้นจากเซลล์หนูเพศผู้ 2 ตัวได้สำเร็จ จุดความหวังถึงอนาคตของการมีบุตรของกลุ่มชายรักชายและผู้ที่มีบุตรยาก แม้ผู้เชี่ยวชาญจะเตือนว่ามีหนูที่รอดชีวิตในสัดส่วนที่น้อย อีกทั้งยังไม่ทราบแน่ชัดว่ากระบวนการดังกล่าวสามารถนำมาปรับใช้กับมนุษย์ได้หรือไม่

.

การวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อวันพุธ ระบุว่า ขั้นตอนแรก คือ การนำเซลล์ผิวหนังจากส่วนหางของหนูตัวผู้ 2 ตัว และนำมาทำเป็น “สเต็มเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อน” ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นเซลล์หรือเนื้อเยื่อรูปแบบต่าง ๆ ได้ จากนั้นก็นำเข้าสู่กระบวนการที่ทำให้เซลล์เติบโตและให้ตัวยาต่าง ๆ ทีมวิจัยเปลี่ยนสเต็มเซลล์หนูเพศผู้ให้กลายเป็นเซลล์เพศเมียและผลิตไข่สำหรับการสืบพันธุ์ออกมา ท้ายสุดทีมวิจัยได้ปลูกถ่ายตัวอ่อนในไข่เหล่านั้นจนเติบโตเป็นหนูเพศเมียในที่สุด

.

ในการวิจัยนี้ยังพบว่า 1% ของตัวอ่อน ซึ่งอยู่ที่ 7 ตัวจาก 630 ตัว สามารถเติบโตขึ้นมาเป็นลูกหนูที่มีชีวิตได้

.

คัตสุฮิโกะ ฮายาชิ แห่ง Kyushu University และ Osaka University ซึ่งเป็นหัวหน้าการวิจัยนี้ ระบุเมื่อสัปดาห์ก่อนระหว่างการประชุม Third International Summit on Human Genome Editing ว่า ลูกหนูที่สร้างขึ้นเติบโตและสามารถขยายพันธุ์ได้ตามปกติด้วย

.

ไดอานา แลร์ด ผู้เชี่ยวชาญด้านสเต็มเซลล์และการเจริญพันธุ์จาก University of California ในซานฟรานซิสโก ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการวิจัย ระบุว่า “นี่คือกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดมาก” และว่า “มันคือก้าวสำคัญของชีววิทยาด้านสเต็มเซลล์และการเจริญพันธุ์” ที่เปิดประตูสู่การวิจัยใหม่ที่เกี่ยวข้องทั้งกับมนุษย์และสัตว์ รวมถึงโอกาสความเป็นไปได้ในการสืบพันธุ์ของสัตว์เพศผู้ที่ใกล้สูญพันธุ์ โอกาสการมีบุตรของคู่รักชายรักชาย “ให้สามารถมีบุตรโดยกำเนิดที่เลี่ยงประเด็นปัญหาด้านจริยธรรมและด้านกฎหมายว่าด้วยผู้บริจาคไข่เพื่อการมีบุตร”

.

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านสเต็มเซลล์และการเจริญพันธุ์จาก University of California ได้เตือนอยู่บางประเด็น ได้แก่ เทคนิคนี้ถือว่าไม่มีประสิทธิภาพอย่างมาก ทีมวิจัยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าทำไมตัวอ่อนที่ฝังไว้ในหนูตัวเมียถึงรอดชีวิตได้น้อยมาก ซึ่งเหตุผลอาจเป็นเรื่องเชิงเทคนิคหรือด้านชีววิทยาก็ได้

.

นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญยังเห็นว่าเร็วเกินไปที่จะระบุว่าวิธีดังกล่าวจะได้ผลกับสเต็มเซลล์ของมนุษย์หรือไม่ อีกทั้งยังต้องระมัดระวังเรื่องการกลายพันธุ์ของเซลล์และความผิดพลาดที่เกิดขึ้นก่อนจะนำเซลล์ไปผลิตไข่ด้วย

.

ประเด็นเรื่องการสร้างตัวอ่อนหนูในห้องแลบไม่ใช่เรื่องใหม่นัก เพราะเมื่อปีที่แล้ว นักวิทยาศาสตร์ด้านเซลล์ต้นกำเนิด หรือ สเต็มเซลล์ จากสหรัฐฯ และสถาบัน Weizmann Institute of Science ในประเทศอิสราเอล ค้นพบวิธีสร้าง “ตัวอ่อนเทียมแบบสังเคราะห์” โดยที่ไม่ต้องใช้สเปิร์ม ไข่และการปฏิสนธิ ได้เป็นครั้งแรก อย่างไรก็ดีการที่จะนำเทคนิคดังกล่าวมาสร้างอวัยวะเพื่อการปลูกถ่ายให้กับมนุษย์ ยังเป็นเรื่องที่ห่างไกล

ที่มา : voathai https://www.voathai.com/a/scientists-create-mice-with-cells-from-2-males-for-first-time/7008549.html