เวงกี รามกฤษณัน ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปี 2009
การแก่ตัวและการตายเกิดขึ้นกับพวกเราทุกคนและ (เกือบ) ทุกคนกลัวสิ่งนี้ แต่ทำไมเราถึงแก่ตัวและตาย ? เป็นไปได้ไหมที่จะชะลอวัยหรือแม้กระทั่งบรรลุความเป็นอมตะ ?
.
คำถามเหล่านี้ได้ครอบงำอาชีพการงานของนักชีววิทยาระดับโมเลกุล เวงกี รามกฤษณัน ผู้เกิดในเมืองจิตัมปรัม ประเทศอินเดีย ในปี 1952
.
ในปี 2009 รามกฤษณันได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีร่วมกับโทมัส เอ. สตีทซ์ และอาดา อี. โยนาท สำหรับงานวิจัยเกี่ยวกับไรโบโซม (ribosome) โครงสร้างเซลล์ที่มีหน้าที่ในการผลิตโปรตีนซึ่งเป็นโมเลกุลที่ทำให้สิ่งมีชีวิตมีชีวิตขึ้นมาได้
.
รามกฤษณันเป็นผู้เขียนหนังสือที่มีชื่อว่า "ทำไมเราถึงตาย: วิทยาศาสตร์ใหม่ของการชราและการแสวงหาความเป็นอมตะ (Why We Die: The New Science of Aging and the Quest for Immortality)" ซึ่งฉบับภาษาอังกฤษวางจำหน่ายในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา
.
บีบีซี มุนโด (แผนกภาษาสเปน) ได้พูดคุยเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้กับเขา ซึ่งในบทสัมภาษณ์นี้เขาอธิบายทุกอย่างตั้งแต่ปฏิกิริยาเคมีที่ทำให้เซลล์เสื่อมสภาพไปจนถึงผลกระทบที่มหาศาลที่การมีชีวิตยาวนานขึ้นมีต่อมนุษยชาติ
.
การแก่คืออะไร และอะไรบ้างที่เกิดขึ้นในกระบวนการนี้ ?
.
หนึ่งในสาเหตุหลักของการแก่ตัวคือการสะสมของความเสียหายต่อยีนในสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ของเรา วิธีการสร้างโปรตีน นับเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญที่สุดในยีน
.
ในระดับเซลล์ โปรตีนทำปฏิกิริยาเคมีนับพัน ๆ อย่าง ที่ช่วยให้เกิดชีวิตขึ้นมาได้ พวกมันก่อให้เกิดการสร้างรูปร่างและความแข็งแรงของร่างกาย ทั้งยังช่วยให้เกิดการสื่อสารระหว่างเซลล์ เพราะมีโปรตีนเหล่านี้ เราเลยมีประสาทสัมผัสและระบบประสาทที่ส่งสัญญาณต่าง ๆ และเก็บความทรงจำของเราเอาไว้ผ่านพวกมัน
.
แอนติบอดีของเราคือโปรตีน พวกมันคือสิ่งที่ทำให้เซลล์สามารถสร้างโมเลกุลที่จำเป็นได้ นั่นรวมถึงไขมัน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน ฮอร์โมน และยีนเอง ดังนั้น การแก่ตัวจึงมีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับการสูญเสียความสามารถของร่างกายในการควบคุมการผลิตและการทำลายโปรตีนในเซลล์
.
เราสามารถสองสิ่งนี้เป็นการสะสมของความเสียหายทางเคมีในโมเลกุลของเรา ในเซลล์ของเรา ในเนื้อเยื่อของเรา และสุดท้ายในทั้งร่างกายของเรา มันเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ตั้งแต่ตอนที่เราเกิด เราเริ่มแก่มาตั้งนานแล้ว แต่ในวัยเยาว์เราไม่รู้สึกมันเพราะเรากำลังเติบโต เรากำลังพัฒนา จากนั้น เมื่อเวลาผ่านไป อาการต่าง ๆ จะชัดเจนมากขึ้นและเมื่อระบบที่สำคัญเริ่มล้มเหลว ร่างกายไม่สามารถทำงานเป็นหนึ่งเดียวกันได้... นั่นคือสิ่งที่นำไปสู่ความตาย
.
สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับความตายคือเมื่อเราตาย เซลล์ส่วนใหญ่ของเรายังคงมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นเหตุผลที่อวัยวะของเราสามารถบริจาคได้ แต่พวกมันไม่สามารถทำงานเป็นหนึ่งเดียวกันได้อีกต่อไป นั่นคือความตาย
.
จากมุมมองของวิวัฒนาการ ทำไมเราถึงแก่ตัวและตาย ?
.
เพราะวิวัฒนาการไม่ได้สนใจเราในฐานะปัจเจกบุคคล วิวัฒนาการมุ่งเน้นไปที่ความสามารถในการถ่ายทอดยีน และยีนเหล่านั้นไม่ได้อยู่ในที่ว่างเปล่า แต่พวกมันอยู่ในตัวบุคคล ดังนั้นตราบใดก็ตามที่คุณยังสามารถเติบโต สืบพันธุ์ และทำให้ลูกหลานของคุณถึงวัยสืบพันธุ์ได้ วิวัฒนาการก็ไม่สนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคุณต่อไป เพราะคุณได้ถ่ายทอดยีนของคุณแล้ว
.
มันเป็นความจริงที่ว่า ร่างกายของเราสามารถมีการป้องกันการแก่ตัวหรือการมีระบบซ่อมแซมที่ดีกว่านี้ได้ แต่จากมุมมองของวิวัฒนาการ มันมีประสิทธิภาพมากกว่าที่จะทำให้เราเติบโตอย่างรวดเร็วและสามารถสืบพันธุ์เพื่อถ่ายทอดยีนของเรา
.
มันเป็นสมดุลที่แตกต่างกันในแต่ละสายพันธุ์ ตัวอย่างเช่น ในสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกกินโดยผู้ล่า ไม่มีเหตุผลที่ร่างกายจะวิวัฒนาการให้มีชีวิตอยู่หลายปี เพราะมีโอกาสสูงที่จะถูกกินในทุกเวลา
.
ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่กว่ามักมีวงจรชีวิตที่ยาวนานกว่าสายพันธุ์ที่มีขนาดเล็กกว่า อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นที่น่าสนใจคือ หนูและค้างคาวมีน้ำหนักเกือบเท่ากัน แต่ค้างคาวมีวงจรชีวิตที่ยาวนานกว่าหนู ทำไมเป็นเช่นนั้นเหรอ นั่นเพราะพวกมันสามารถบินได้ ดังนั้น พวกมันจึงมีความเสี่ยงน้อยกว่าที่จะถูกผู้ล่ากิน
.
ในช่วง 150 ปีที่ผ่านมา อายุขัยของมนุษย์เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า อายุขัยนี้สามารถยืดออกไปได้อีกหรือไม่ หรือเราถึงขีดจำกัดของการมีชีวิตของร่างกายแล้ว ?
.
ปัจจุบันเรามีอายุยืนยาวขึ้นเพราะสุขภาพและการดูแลทางการแพทย์ที่ดีขึ้น ด้วยความรู้ในปัจจุบัน 120 ปีเป็นอายุขัยสูงสุดที่เราสามารถมีได้อย่างสมเหตุสมผล มีความเป็นไปได้ต่ำมากที่เราจะมีชีวิตยืนยาวเกินกว่านั้น
.
ทอม เพิร์ลส์ นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาการมีอายุยืนยาวในบอสตัน สหรัฐอเมริกา สังเกตว่าแม้จำนวนคนที่มีอายุถึง 100 ปีจะเพิ่มขึ้น แต่จำนวนคนที่มีอายุถึง 110 ปี กลับไม่เพิ่มขึ้น เขารู้สึกว่าเมื่ออายุเกิน 110 ปี เราเผชิญกับขีดจำกัดทางชีววิทยา แม้ว่าจะมีบางคนที่มีอายุเกิน 110 ปีได้ด้วยปัจจัยทางพันธุกรรมและวิถีชีวิตของพวกเขา แต่จำนวนคนเหล่านี้ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น
.
ดูเหมือนว่าจะมีขีดจำกัดทางธรรมชาติอยู่จริง นักวิจัยยังคำนวณได้ว่าถึงแม้เราจะสามารถกำจัดโรคต่าง ๆ เช่น มะเร็งได้ เราก็จะเพิ่มอายุขัยเฉลี่ยได้เพียงไม่กี่ปีเท่านั้น
.
ถ้าเราสามารถรักษาสาเหตุของการแก่ชราได้ เราอาจจะสามารถข้ามขีดจำกัดนั้นได้ แต่ผมไม่แน่ใจว่ามันจะง่ายเพียงใด หรือแม้แต่ควรทำหรือไม่ นี่เป็นเรื่องที่เราต้องคิด เพราะอาจมีผลกระทบทางสังคมอย่างใหญ่หลวง
.
ผู้ที่มองโลกในแง่ดีบางคนกล่าวว่าบุคคลแรกที่จะมีชีวิตถึง 150 ปีได้เกิดมาแล้ว แต่ผมคิดว่าพวกเขามองโลกในแง่ดีเกินไป เพราะการแก่ชราเกิดจากปัจจัยหลายด้านมาก และยังไม่แน่ชัดว่าจะมีวิธีที่จะหยุดมันได้และทำให้เรามีสุขภาพดีต่อไป
.
การแก่เป็นโรค ?
.
โรคมะเร็ง โรคสมองเสื่อม การอักเสบ ข้อเข่าเสื่อม โรคหัวใจ ทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับการสูงอายุขึ้นทั้งสิ้น นั่นเป็นเหตุผลที่มีคนอ้างว่าอายุเป็นสาเหตุหลักของโรคเหล่านี้ ดังนั้นการแก่ชราจึงเป็นโรคอย่างหนึ่ง
.
ในทางกลับกัน บางคนชี้ให้เห็นว่าการแก่ชราเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคน ดังนั้นจะเรียกสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และเกิดขึ้นทั่วไปว่าเป็นโรคได้อย่างไร ?
.
องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุจุดยืนว่าการแก่ชราไม่ใช่โรค แต่มีแรงกดดันมากมายให้พิจารณาการแก่ชราเป็นโรค เพราะมีเงินลงทุนมากมายในงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
.
ในการทำการศึกษาทางคลินิกหรือการขออนุมัติจากหน่วยงานที่มีอำนาจ คุณต้องทำให้เห็นว่ามีโรคนั้น ๆ อยู่จริง
.
ในอนาคตอันใกล้ คุณคิดว่าเราจะเห็นความก้าวหน้าด้านใดมากที่สุดในศาสตร์การชะลอวัย?
.
ตามคำพูดติดตลกของนักเบสบอลโยกิ เบอร์รา ที่ว่า "การทำนายเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับอนาคต" ผมไม่แน่ใจว่าเราจะก้าวหน้าไปได้แค่ไหน แต่มีหลายฝั่งที่พยายามชะลอการแก่ตัวลง
.
ตัวอย่างเช่น นักวิจัยพบว่าการจำกัดแคลอรี่มักจะช่วยชะลอการแก่ชรา โดยมีข้อแม้ว่าการทำเช่นนั้นในวัยเยาว์อาจทำให้เกิดปัญหาได้ ดังนั้นพวกเขากำลังมองหาว่าพวกเขาสามารถสร้างยาที่มีผลคล้ายกับการจำกัดแคลอรี่ได้หรือไม่ ผมพูดติดตลกว่าเหมือนคุณสามารถกินเค้กกับไอศกรีมโดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับแคลอรี่ เพราะคุณกินยาก็พอ นี่คือสิ่งที่หลายคนต้องการ
.
มีความสนใจอย่างมากในยาที่เรียกว่าราพาไมซิน (rapamycin) ซึ่งใช้วิธีการข้างต้น แต่การรับประทานยาในปริมาณมากสามารถกดภูมิคุ้มกันและทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรงได้
.
อีกด้านที่น่าสนใจคือพาราไบโอซิส (parabiosis) ซึ่งคุณสามารถถ่ายเลือดจากสัตว์อายุน้อยไปยังสัตว์ที่มีอายุมากกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือสัตว์ที่ได้รับเลือดจะได้รับการฟื้นฟูในหลาย ๆ ด้าน หมายความว่ามีปัจจัยในเลือดที่มีผลต่อการแก่ชรา และมีงานศึกษาที่กำลังพยายามระบุให้ได้ว่าปัจจัยเหล่านั้นคืออะไร
.
มีอีกแนวทางหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อมสภาพ (senescence) ซึ่งเป็นสภาวะที่เซลล์หยุดทำงานตามปกติและหยุดแบ่งตัว เมื่อเราแก่ขึ้นเราจะสะสมเซลล์ที่เสื่อมสภาพมากขึ้น และการอักเสบที่พวกมันผลิตเป็นสัญญาณว่ามีบางอย่างไม่ถูกต้องเป็นสาเหตุเพิ่มเติมของการแก่ชรา ดังนั้นนักวิจัยบางคนกำลังสงสัยว่า: เป็นไปได้หรือไม่ที่จะทำลายเซลล์ที่เสื่อมสภาพอย่างเฉพาะเจาะจง ? มีหลักฐานว่าหากทำได้ บางส่วนของผลกระทบจากการแก่ชราสามารถย้อนกลับได้
.
และยังมีด้านที่น่าสนใจมากของการตั้งโปรแกรมเซลล์ใหม่ ซึ่งประกอบด้วยการนำเซลล์กลับไปสู่สภาวะแรกเริ่มของมัน ย้อนกลับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเซลล์นั้น แน่นอนว่ากระบวนการนี้มีความเสี่ยงเพราะมักจะทำให้เกิดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง เราอยู่ไกลจากการนำกระบวนการนี้ไปใช้กับมนุษย์ได้ แต่มีการทดลองในสัตว์ที่แสดงผลลัพธ์ที่น่าพอใจ
.
แนวคิดที่ราวกับเป็นนิยายวิทยาศาสตร์
.
ใช่ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ดูเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์ในขณะนี้
.
มีคนที่เชื่อในกระบวนการไครโอนิกส์ (cryonics) หรือเมื่อคนเสียชีวิต พวกเขาจะเก็บรักษาร่างกายไว้ในไนโตรเจนเหลวด้วยความหวังว่าในอนาคตจะมีเทคโนโลยีที่สามารถฟื้นคืนพวกเขาได้
.
ผมคิดว่าสำหรับตอนนี้มันเป็นแค่กระแส มันเป็นวิธีการที่จะทำกำไรจากความกลัวการตายของผู้คน
.
นอกจากนี้ ผมคิดว่ามันเป็นปัญหาของประเทศพัฒนาแล้ว ผู้ที่เดิมพันกับไครโอนิกส์ เป็นคนที่มีเงินมาก สามารถซื้อทุกอย่างได้ ยกเว้นความเยาว์วัย ผมเติบโตในอินเดียและรู้จักผู้คนมากมายจากแอฟริกา และไม่มีใครที่นั่นคิดเกี่ยวกับไครโอนิกส์เลย
.
ชะลอความแก่เพราะความกลัว ?
.
มีแรงกดดันมากมายเพื่อไม่ให้ผู้คนแก่ตัวลง และแรงกดดันนั้นตกไปอยู่ที่ผู้หญิงมากเป็นพิเศษ มันเป็นเรื่องที่แย่มาก
.
แต่ผมไม่คิดว่างานวิจัยเพื่อชะลอการแก่ชราจะเป็นการกระตุ้นความกลัวการแก่ลง ตรงกันข้าม ผมเชื่อว่างานวิจัยเหล่านี้เป็นผลมาจากความกลัวนั้นต่างหาก
.
มันเป็นความกลัวที่เรามีมาตลอดประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ของเรา เพราะเราไม่มีความรู้ทางการแพทย์เพียงพอ
.
วิธีการต้านแก่แบบง่าย ๆ
.
การกินดี นอนหลับให้เพียงพอ และการออกกำลังกาย มีประสิทธิภาพมากกว่ายาต้านวัยใด ๆ ที่มีอยู่ในท้องตลาดในปัจจุบัน พวกมันไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและไม่มีผลข้างเคียง และมีพื้นฐานทางชีววิทยาที่แข็งแกร่งในการต่อต้านการแก่ชรา
.
มนุษย์ไม่ได้วิวัฒนาการมาเพื่อกินอาหารอย่างอุดมสมบูรณ์ หรือขนมหวาน สายพันธุ์ของเราเริ่มต้นจากการเป็นนักล่าและนักเก็บเกี่ยว เรากินอาหารเป็นระยะ ๆ อดอาหารตามธรรมชาติ และมีการจำกัดแคลอรีตามที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้
.
แต่ปัจจุบันเรากินแม้ว่าเราจะไม่หิวก็ตาม และในตะวันตกเรามองเห็นการเพิ่มขึ้นของโรคอ้วนอย่างมาก
.
พูดถึงการออกกำลังกาย ปัจจุบันเรามีชีวิตที่อยู่กับที่เมื่อเทียบกับบรรพบุรุษของเรา ซึ่งเป็นเกษตรกร นักล่า และคนงานใช้แรงงาน
.
เมื่อพูดถึงเรื่องการนอนหลับ เรามักจะประเมินความสำคัญของการนอนหลับต่ำเกินไป แต่การนอนหลับมีค่ามากต่อกลไกการซ่อมแซมของร่างกายเรา การปฏิบัติตามคำแนะนำนี้ช่วยให้เรารักษามวลกล้ามเนื้อ ควบคุมการทำงานของไมโทคอนเดรีย ความดันโลหิต ความเครียด และลดความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อม
.
ปัญหาคือมันไม่ง่ายเสมอไปที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้ บางครั้งผู้คนชอบที่จะกินยาและใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการ นั่นคือส่วนที่เราต้องก้าวข้ามไปให้ได้
.
"มันไม่สำคัญว่าคุณจะมีชีวิตอยู่กี่ปี แต่คือการใช้ชีวิตในช่วงเวลานั้น"
.
มันเป็นคำพูดที่ดีมากและผมเห็นด้วยกับมัน นั่นคือทั้งหมดที่สำคัญ การมีเป้าหมายและการใช้ชีวิตอย่างเต็มที่
.
มีหลักฐานมากมายที่แสดงว่าการมีเป้าหมายในชีวิตช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและการเสื่อมสภาพของสมอง
.
แต่มันก็เป็นความจริงที่ว่าเราทุกคนต้องการมีชีวิตอยู่นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ และนั่นสร้างความขัดแย้ง เพราะสิ่งที่เราต้องการในฐานะปัจเจกบุคคลไม่จำเป็นต้องดีต่อสังคมหรือโลก และเราจะเห็นได้จากการใช้พลังงาน ภาวะโลกร้อน การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ... เรากำลังตัดสินใจแบบปัจเจกที่เป็นอันตรายต่อสังคมโดยรวม และการกลับคืนสู่สภาวะที่ถูกต้องนั้นต้องการความพยายามอย่างแท้จริง
ที่มา : BBC https://www.bbc.com/thai/articles/c844pdj4e3vo