ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ในประเทศไทย สามารถควบคุมได้ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของประชาชนและหน่วยงานทุกภาคส่วน ทำให้มีการผ่อนคลายการบังคับใช้บางมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ตามลำดับขั้นตอนการควบคุมโอกาสเสี่ยงของบุคคล สถานที่ และประเภทกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ตามหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก และตามผลการประเมินสถานการณ์ของฝ่ายสาธารณสุข นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 6) โดยเป็นข้อกำหนดเป็นการทั่วไปและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการ กำหนดการผ่อนคลายให้ดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้ ในระยะแรกให้เปิดดำเนินการได้ทั่วราชอาณาจักรตามความสมัครใจและความพร้อมใน 2 ลักษณะกิจกรรม คือ

       1. กิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต ได้แก่ ร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ รถเข็น หาบเร่ แผงลอย ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ร้านขายยา สินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต ร้านค้าปลีก/ค้าส่งขนาดย่อม ร้านค้าปลีก/ค้าส่งชุมชน ตลาด ตลาดน้ำ ตลาดนัด และร้านเสริมสวย

       2. กิจกรรมด้านการออกกำลังกายหรือการดูแลสุขภาพ ได้แก่ โรงพยาบาล คลินิก สถานทันตกรรมหรือสถานพยาบาลทุกประเภท ที่จัดตั้งโดยชอบด้วยกฎหมาย สนามกอล์ฟ หรือสนามฝึกซ้อมกอล์ฟ สนามกีฬาเฉพาะกีฬาประเภทกลางแจ้งและตามกติกาสากล สวนสาธารณะ ลาน-พื้นที่กิจกรรมสาธารณะ สถานที่ออกกำลังกาย สนามกีฬา ลานกีฬา รวมถึงสถานที่ให้บริการดูแลรักษาสัตว์ สปา อาบน้ำ ตัดขน รับเลี้ยงหรือรับฝากสัตว์

                                                กิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต                                กิจกรรมด้านการออกกำลังกายหรือการดูแลสุขภาพ

                         

                                     (ที่มา : https://www.prachachat.net/economy/news-25125)                  (ที่มา : https://www.chillpainai.com/scoop/6041/)

      กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดมาตรการและคําแนะนําในการป้องกันโรคในสถานที่ต่างๆ ที่เปิดให้บริการ โดยให้ความสําคัญกับการจัดการเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เพราะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 จําเป็นต้องมีการจัดการดูแลสถานที่ข้างต้นอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ขอยกตัวอย่างคำแนะนำในการป้องกัน COVID-19 สำหรับกิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต ได้แก่ ร้านอาหาร ดังรายละเอียดต่อไปนี้

       1. คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ

             (1) จัดให้มีการคัดกรองผู้ประกอบการ ผู้สัมผัสอาหาร และผู้ซื้อ/ผู้บริโภค หากพบว่ามีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก เหนื่อยหอบ หรือมีอุณหภูมิร่างกายมากกว่าหรือเท่ากับ 37.5 องศาเซลเซียส ให้ไปพบแพทย์ทันที
             (2) ทุกคนต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ใช้บริการ
             (3) มีมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล แผงค้า โต๊ะ และที่นั่งรับประทานอาหาร การซื้อสินค้าและชำระเงิน อย่างน้อย 1-2 เมตร
             (4) จัดให้มีที่ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ ให้แก่ผู้ซื้อ/ผู้บริโภคอย่างเพียงพอ
             (5) ทำความสะอาดบริเวณพื้นของสถานที่ปรุง-ประกอบ/จำหน่ายอาหาร โต๊ะ และที่นั่งรับประทานอาหาร พื้นผิวที่มีการสัมผัสบ่อย ด้วยน้ำยาทำความสะอาดก่อนและหลังการให้บริการทุกครั้ง

           (6) มาตรการป้องกันการปนเปื้อนสู่อาหาร เช่น อาหารปรุงสำเร็จมีการปกปิดอาหารมิดชิด จัดเก็บสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร ต้องอุ่นอาหารให้ร้อนทุก 2 ชั่วโมง ใช้อุปกรณ์สำหรับการหยิบจับหรือตักอาหาร
             (7) จัดสภาพแวดล้อมในสถานที่จำหน่ายอาหาร เช่น จัดให้มีการระบายอากาศที่เหมาะสม จัดทำระบบการสั่งซื้ออาหารหรือจองโต๊ะล่วงหน้า ระบบชำระเงินออนไลน์ เป็นต้น
             (8) กำหนดมาตรการเพื่อลดความแออัด เช่น จำนวนคนต่อพื้นที่ ระยะเวลาที่ใช้บริการนั่งรับประทานอาหาร และงดจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
             (9) จัดให้มีภาชนะรองรับขยะที่มีฝาปิดไว้ภายในบริเวณสถานที่จำหน่ายอาหาร
             (10) ให้ความรู้และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการป้องกันโรค COVID-19 แก่พนักงาน เช่น การสวมหน้ากากอนามัยที่ถูกวิธี และขั้นตอนการล้างมือที่ถูกต้อง

                          

                               (ที่มา : https://www.innnews.co.th/regional-news/news_666875/)              (ที่มา : https://news.trueid.net/detail/ZY4MO746klV9)      

       2. คำแนะนำสำหรับผู้สัมผัสอาหาร ได้แก่ บุคคลที่เกี่ยวข้องกับอาหารตั้งแต่กระบวนการเตรียม ประกอบ ปรุง จำหน่าย เสิร์ฟอาหาร รวมถึงการล้างและเก็บภาชนะอุปกรณ์ 

             (1) หากมีอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบ ให้หยุดปฏิบัติงาน และไปพบแพทย์ทันที 

             (2) ใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ ก่อนปฏิบัติงานที่ต้องสัมผัสอาหารทุกครั้ง  

             (3) มีการป้องกันการปนเปื้อนสู่อาหาร เช่น ผู้สัมผัสอาหารต้องสวมใส่ผ้ากันเปื้อน สวมหมวกหรืออุปกรณ์ปกปิดเส้นผมในขณะปฏิบัติงาน อาหารปรุงสำเร็จมีการปกปิดอาหารมิดชิด จัดเก็บสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร ต้องอุ่นอาหารให้ร้อนทุก 2 ชั่วโมง เป็นต้น

             (4) ลดการสัมผัสใกลชิดกับผู้ซื้อ/ผู้บริโภค เช่น การเว้นระยะห่างระหว่างบคุคล 1-2 เมตร มีระบบการสั่งซื้ออาหาร จองโต๊ะล่วงหน้า ชำระเงินแบบออนไลน์ และมีอุปกรณ์สำหรับรับเงิน เป็นต้น

            (5) ผู้ปฏิบัติงานทำความสะอาดและล้างภาชนะอุปกรณ์ ต้องสวมถุงมือยาง ผ้ายางกันเปื้อน รองเท้าพื้นยาง หุ้มแข้ง และใช้ปากคีบด้ามยาวเก็บขยะ และใส่ถุงขยะปิดปากถุงให้มิดชิด และล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังปฏิบัติงาน เมื่อปฏิบัติงานเสร็จในแต่ละวันให้อาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที

                          

                                   (ที่มา : https://www.bbc.com/thai/international-52078785)               (ที่มา : https://mgronline.com/travel/detail/9630000026322)

       3. คำแนะนำสำหรับผู้ซื้อ/ผู้บริโภค 

             (1) ใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย หากมีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบ งดไปใช้บริการในสถานที่จำหน่ายอาหาร และไปพบแพทย์ทันที

             (2) ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ ก่อนและหลังการใช้บริการ

             (3) เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1-2 เมตร

             (4) วางแผนหรือเลือกรูปแบบการซื้ออาหาร เช่น จัดเตรียมเมนูอาหาร สั่งจองอาหารล่วงหน้า เลือกซื้ออาหารผ่านระบบออนไลน์ เพื่อความรวดเร็วและลดการสัมผัส

             (5) เลือกร้านที่ผู้ประกอบอาหารสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และปฏิบัติตามมาตรการ ป้องกันโรค เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการใช้บริการ

                          

(ที่มา : https://positioningmag.com/1275885)

       จะเห็นได้ว่า ร้านอาหารเป็นสถานที่จำหน่ายอาหารให้แก่ผู้บริโภคจากหลากหลายพื้นที่ อาจมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อโรค และในระยะผ่อนปรนร้านอาหารสามารถจัดที่นั่งให้รับประทานภายในร้านได้ ดังนั้น คำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขในการดูแลสุขลักษณะของร้านอาหารนี้ สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการ ผู้สัมผัสอาหาร และผู้ซื้อ/ผู้บริโภค เพื่อช่วยในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ภายในประเทศได้เป็นอย่างดี

เอกสารอ้างอิง

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. คำแนะนำการป้องกันควบคุมโรคไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร. [ออนไลน์]

       [อ้างถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2563]. เข้าถึงจาก : http://lib1.dss.go.th/covid/index.php/entrepreneurs-sme/218-restaurant

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. คำแนะนำกรมอนามัย สำหรับ 6 กิจกรรมที่ได้รับการผ่อนปรน. [ออนไลน์] [อ้างถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2563].

       เข้าถึงจาก : http://www.anamai.moph.go.th/download/2563/Covid_19/public/คำแนะนำกรมอนามัย%20สำหรับ_6_กิจการที่ผ่อนปรน_030563.pdf

กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุข เพื่อการจัดการภาวะระบาดของโรคโควิด-19 ในข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9

       แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1). [ออนไลน์] [อ้างถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2563].

       เข้าถึงจาก : https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/file/g_other/g_other02.pdf

“ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 6)” (2563, 1 พฤษภาคม).

       ราชกิจจนุเบกษา. เล่ม 137 ตอนพิเศษ 102 ง. หน้า 4-6.

ศูนย์ข้อมูลข่าวสารด้านเวชภัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือการปฏิบัติตามมาตรการผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

       สำหรับประเภทกิจการและกิจกรรม กลุ่มที่ 1 (สีขาว). [ออนไลน์] [อ้างถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2563].

       เข้าถึงจาก : http://dmsic.moph.go.th/index/detail/8166