ในปัจจุบันอาการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุส่วนหนึ่งมีผลมาจากอาหารที่กินในชีวิตประจำวันที่สะสมเป็นระยะเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นของหวานที่มีน้ำตาลสูง เช่น ชานมไข่มุก เค้ก ไอศกรีมรสชาติต่าง ๆ รวมไปถึงอาหารจานด่วนที่มีรสชาติดีและสะดวกต่อการรับประทาน เช่น พิซซ่า ไก่ทอด แฮมเบอร์เกอร์ ฮอทดอก ข้าวราดแกงหรืออาหารตามสั่งทุกชนิด ซึ่งประกอบไปด้วยแป้ง โซเดียม วัตถุกันเสีย สารเติมแต่งอีกมากมายเพื่อตกแต่งให้รสชาติของอาหารออกมาถูกปากของผู้บริโภค อย่างไรก็ดี พบว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินเป็นการทานผักผลไม้ในจำนวนที่มากเกินความจำเป็น โดยมีความเชื่อที่ว่าผักผลไม้นั้นดีต่อสุขภาพ แต่อาจลืมไปว่าในผลไม้นั้นก็แฝงไปด้วยน้ำตาลมากมาย ในหลายปีที่ผ่านมามีผู้รักสุขภาพจำนวนหลายคน เกิดภาวะโรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ปวดข้อ ปวดเข่า นอกจากนี้ หลายคนยังกลายเป็นโรคอัลไซเมอร์หรือพาร์กินสันก่อนวัยอันควร

 .

การรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตมากเกินไปจะส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย ?

 คาร์โบไฮเดรตจะปลี่ยนเป็นน้ำตาล ซึ่งน้ำตาลก็จะถูกเปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอไรด์ แล้วจะถูกส่งไปกักเก็บไว้ใต้ชั้นผิวหนัง ทำให้เกิดโรคอ้วนตามมา

  1. จำนวนไตรกลีเซอไรด์ที่เพิ่มขึ้น มีผลต่อการสร้างคอเลสเตอรอลของตับที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลมีสิทธิ์ทำให้เกิดไขมันพอกตับได้ ยิ่งถ้าคนใดรับประทานยาลดไขมันด้วยแล้ว ก็จะยิ่งกวาดจับไขมันให้ไปพอกตับได้อย่างดี นอกจากจะเกิดไขมันพอกตับแล้ว ยังตามมาด้วยการเกิดโรคตับแข็ง เสี่ยงต่อมะเร็งตับได้ในภายหลัง
  2. ไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอล ไขมันทั้ง 2 ชนิดนี้ ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการอุดตันของหลอดเลือด ส่งผลให้เกิดอัมพาตและโรคหัวใจได้
  3. น้ำตาลที่คั่งในเลือด ส่งผลให้เกิดโรคเบาหวาน และน้ำตาลยังจับกับโปรตีนตามกระบวนการเคมีที่เรียกว่า กลัยเคชั่น (glycation) ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว เกิดความดันโลหิตสูง สมองเสื่อม จอตาเสื่อมทำให้ตาบอด ข้ออักเสบและข้อเสื่อม และอาจเกิดภาวะไตวายได้ในที่สุด

.

 เมนูอาหารที่แนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงคาร์โบไฮเดรต ประกอบด้วย

 เนื้อสัตว์ต่าง ๆ เช่น หมู ไก่ เป็ด เนื้อวัว ปลา กุ้ง หอย ปู ฯลฯ รวมไปถึงไข่ หนังเป็ดและหนังไก่ก็สามารถทานได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ติดมัน เช่น หมูสามชั้น ขาหมู เพราะจะทำให้เกิดโรคไขมันในเลือดสูงประเภทไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอล

  1. เส้นบุก สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ในผู้ป่วยเบาหวาน ลดระดับคอเลสเตอรอล มีแคลอรี่ต่ำ และยังช่วยดูดซับไขมัน
  2. ผักสด ผักลวก ผักต้ม ผัดผักและน้ำปั่นผัก อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย รวมถึงมีส่วนช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาล ระดับไขมันในเลือดและช่วยในการควบคุมน้ำหนักได้
  3. เต้าหู้ การวิจัยพบว่าโปรตีนจากถั่วเหลืองมีผลต่อระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ช่วยลดคอเลสเตอรอลร้าย เพิ่มคอเลสเตอรอลดี ช่วยป้องกันหลอดเลือดหัวใจ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาคอเลสเตอรอลสูง
  4. ควรรับประทานเนื้อสัตว์ 1 ส่วน ควบคู่กับผัก 2 ส่วน ถือว่าเหมาะสมที่สุด

ข้อบ่งชี้ ข้อห้าม และข้อพึงระวังสำหรับผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงคาร์โบไฮเดรต มีดังนี้

 ใช้ได้กับคนอ้วน คนที่มีไขมันในเลือดสูง บุคคลทั่วไปที่ยังไม่มีภาวะแทรกซ้อนของโรค สามารถกินเมนูอาหารดังกล่าวได้

  1. ในเด็กวัยเจริญเติบโต สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่มีโรคซับซ้อนหลายอย่าง และผู้ป่วยมะเร็ง ไม่ควรใช้วิธีดังกล่าว
  2. คนที่มีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นโรคจากการเผาผลาญ (Metabolic syndrome) คือทั้งอ้วน มีไขมันในเลือดสูงและเบาหวานร่วมด้วย ถ้าจะใช้วิธีดังกล่าวควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

 หากผู้ใช้บริการท่านใดสนใจอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถดูข้อมูลได้จาก  >>> โภชนบำบัดในทัศนะใหม่สำหรับดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ [electronic resource]. บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล. นนทบุรี : กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, 2561. 60 หน้า. อ่านเพิ่มเติม

 นอกจากนี้ผู้ใช้บริการสามารถติดตามสารสนเทศใหม่ๆที่น่าสนใจอื่น ๆ ได้จากบัญชีรายชื่อเอกสารใหม่ (e-New list) ประจำเดือนมกราคม 2566 ได้ที่ http://siweb1.dss.go.th/fulltext/newlist/jan66.pdf หรือขอรับบริการจัดหาเอกสารฉบับเต็ม โดยสอบถามเพิ่มเติมที่ One Stop Service หอสมุดวิทยาศาสตร์ ดร.ตั้ว ลพานุกรม โทร. 0 2201 7250-5