ถั่วดาวอินคา ใช่ถั่วมั้ย ???
ถั่วดาวอินคา หรือ Sacha inchi, Inca peanut มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Plukenetia volubilis L. เป็นพืชเถาเลื้อยอายุหลายปีในวงศ์ Euphorbiaceae วงศ์เดียวกับยางพารา สบู่ดำ หรือมันสำปะหลัง เป็นพืชพื้นเมืองในแถบอเมริกาใต้ มีถิ่นกำเนิดบริเวณประเทศเปรู ปัจจุบันได้นำเข้ามาปลูกในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น รวมถึงประเทศไทยด้วย ดังนั้นถั่วดาวอินคาจึงไม่ใช่พืชตระกูลถั่ว แต่ดาวอินคาเป็นพืชที่ผลมีรูปร่างคล้ายดาว ภายในผลดาวอินคามีเมล็ดคล้ายถั่ว เราจึงได้เรียกพืชชนิดนี้ว่า..ถั่วดาวอินคา

ดาวอินคามีเมล็ดคล้ายถั่ว..จริงรึ ???
ผลถั่วดาวอินคาเรียกเป็นฝัก มีลักษณะเป็นแคปซูลที่แบ่งออกเป็นพู ๆ หรือแฉก 4 - 7 พู ขนาดฝักกว้าง 3 - 5 เซนติเมตร เปลือกผลอ่อนมีสีเขียวสด มีลายประสีขาวกระจายทั่วผล เมื่อผลสุกและแก่จะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีดำจนแห้งและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เปลือกจะปริแตกจนมองเห็นเมล็ดด้านใน เมล็ดถั่วดาวอินคาใน 1 ผลหรือฝัก จะมีจำนวนเมล็ดตามพูหรือแฉก เช่น ถ้าดาวอินคา 1 ผล มี 5 พู ก็จะมี 5 เมล็ด หากมี 7 พู ก็จะมี 7 เมล็ด โดยเมล็ดจะแทรกอยู่ในแต่ละพูตามแนวตั้ง มีรูปทรงกลมและแบน ขอบเมล็ดบางแหลมตรงกลางเมล็ดนูนเด่น ขนาดเมล็ดกว้าง 1.5 - 2.0 เซนติเมตร ยาว 1.8 - 2.2 เซนติเมตร น้ำหนักเมล็ดเฉลี่ย 1.5 กรัม/เมล็ด เปลือกเมล็ดเป็นแผ่นบาง มีสีน้ำตาลอมดำ ถัดมาจากเปลือกเป็นเนื้อเมล็ดที่มีสีขาว เนื้อเมล็ดเมื่อคั่วสุกจะกรอบ และมีรสมันอร่อย มีน้ำมันปริมาณมาก น้ำมันถั่วดาวอินคา ถือเป็นสุดยอดอาหารเพื่อสุขภาพ เพราะมีคุณสมบัติสูงมีกรดไขมันที่จำเป็น และมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ

สารพัดประโยชน์จากถั่วดาวอินคา
ถั่วดาวอินคามีประโยชน์มากมาย ดังนี้ ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ป้องกันการแข็งตัวของเลือด ช่วยบรรเทาโรคเบาหวาน มีวิตามิน A และ E ช่วยเรื่องชะลอริ้วรอยและความชรา ช่วยบำรุงสุขภาพผิวและผม ช่วยควบคุมน้ำหนัก ช่วยลดความเสี่ยงโรคไขข้อ ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ พัฒนาการสมองเด็ก ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ มีสารต้านอนุมูลอิสระ ลดอาการซึมเศร้า นอนไม่หลับ ไมเกรน โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน สะเก็ดเงิน ป้องกันและยับยั้งเซลล์มะเร็ง ช่วยบรรเทาอาการท้องผูก


ถั่วดาวอินคาเมื่อนำมาสกัดเป็นน้ำมัน ถือเป็นสุดยอดอาหารเพื่อสุขภาพ เนื่องจากมีองค์ประกอบของโปรตีน 27% และน้ำมัน 35 - 60% และในน้ำมันนั้นยังอุดมไปด้วยกรดไขมันจำเป็น ได้แก่ โอเมก้า 3 , 6 , 9 วิตามิน A วิตามิน E และไอโอดีน นอกจากนี้ เมล็ดถั่วดาวอินคายังสามารถใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว เช่น ถั่วคั่วเกลือ ถั่วทอด หรือนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร อาทิ ซอส ซีอิ้ว เต้าเจี้ยว รวมถึงแปรรูปเป็นแป้งดาวอินคาสำหรับใช้ประกอบอาหารและทำขนมหวานอีกด้วย

ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่อง “ถั่วดาวอินคา โอเมก้าบนดิน” ได้ที่ หอสมุดวิทยาศาสตร์ ดร.ตั้ว ลพานุกรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ หรือเว็บไซต์ https://library.dss.go.th/cgi-bin/koha/opac-detail.pl?biblionumber=49132

นอกจากนี้ ผู้ใช้บริการสามารถติดตามสารสนเทศใหม่ ๆ ที่น่าสนใจได้จากบัญชีรายชื่อเอกสารใหม่อิเล็กทรอนิกส์ (e-New list) ได้ที่ https://www.dss.go.th/a/qr/mPyEw หรือขอรับบริการจัดหาเอกสาร ฉบับเต็ม โดยสอบถามเพิ่มเติมที่ One Stop Service หอสมุดวิทยาศาสตร์ ดร.ตั้ว ลพานุกรม


☎️ Tel. : 0 2201 7250-5
 Line : @sltd
🔵 Facebook : ScienceLibraryDSS
📨 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
🌐 Website : https://siweb.dss.go.th

เอกสารอ้างอิง
ขวัญฤดี ธราธารกุลวัฒนา, พินิจ จันทร. ถั่วดาวอินคา โอเมก้าบนดิน. กรุงเทพฯ: บริษัท ส.เอเชียเพลส
(1998) จำกัด, 2558, 9-31.
สมนึก พานิชกิจ. ถั่ว:พืชเพื่อโลก. กรุงเทพฯ: ชมรมเด็ก, 2561, 63-64.
ถั่วดาวอินคา สรรพคุณไม่ธรรมดา เป็นพืชที่ควรค่าต่อสุขภาพ. [ออนไลน์]. พฤศจิกายน, 2563. [อ้างถึงวันที่
27 พฤศจิกายน 2566]. เข้าถึงจาก: https://health.kapook.com/view185771.html
ถั่วดาวอินคา สรรพคุณและการปลูกถั่วดาวอินคา. [ออนไลน์]. [อ้างถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566]. เข้าถึงจาก:
https://www.tgl-log.com/ถั่วดาวอินคา-สรรพคุณ
ถั่วดาวอินคา ประโยชน์ดี ๆ สรรพคุณเด่น ๆ และข้อมูลงานวิจัย. [ออนไลน์]. [อ้างถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน
2566]. เข้าถึงจาก: https://www.disthai.com/17028778/ดาวอินคา