คำตอบ
หลักการรมโดยทั่วไป กรณีการรมกองสินค้าต้องจัดเรียงสินค้าให้เหมาะสมต่อการรมยา วางวัสดุป้องกันมุมผ้าคลุมไม่ให้ฉีกขาด ติดตั้งสายวัดความเข้มข้นแก๊ส สายปล่อยแก๊ส และพัดลม (กรณีการรมด้วยเมทิลโบรไมด์) ในตำแหน่งที่เหมาะสม เพื่อการถ่ายเทแก๊สได้ทั่วถึงทั้งกองสินค้า ภายในกองสินค้า วางผ้าคลุมรมยากองสินค้าให้ชายผ้าคลุมห่างจากกองสินค้าไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร และวางทับด้วยท่อทรายให้มิดชิด ไม่มีการรั่วซึม จากนั้นวัดขนาดกองสินค้าเพื่อคำนวณปริมาตรภายใต้ผ้าคลุมทั้งหมดและคำนวณปริมาณของสารรม ติดตั้งอุปกรณ์ในการปล่อยแก๊ส อุปกรณ์ตรวจสอบแก๊สทั้งหมด ตรวจสอบลการปล่อยแก๊ส การรั่วไหลของแก๊ส และทำการแก้ไขก่อนดำเนินการรม ทั้งนี้ ต้องตรวจสอบและควบคุมอุณหภูมิระหว่างการรมตลอดเวลา เพื่อให้สามารถปรับความเข้มข้นของสารรมให้เหมาะสมตามมาตรฐาน และมีการตรวจวัดความเข้มข้นของแก๊สในแต่ละจุดตามระยะเวลาที่กำหนดด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีการกระจายตัวของสารรมอย่างทั่วถึงในระดับความเข้มข้นที่ไม่แตกต่างกันเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
กำหนดระยะปลอดภัยจากการรมยา โดยการรมในอาคารหรือโรงเรียนที่มีการระบายอากาศดี พื้นที่เสี่ยงจะอยู่ในระยะ 3 เมตร จากบริเวณกองรมยา ส่วนการรมในบริเวณพื้นที่ที่ปิดทึบและการระบายอากาศไม่ดี ต้องเพิ่มพื้นที่เสี่ยงออกเป็น 6 เมตร โดยห้ามผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรมยาเข้าบริเวณดังกล่าวโดยเด็ดขาด
หลังจากสิ้นสุดการรมแล้ว จะต้องมีการระบานแก๊สออกตามวิธีการที่กำหนด ระยะเวลาการระบายแก๊สออกขึ้นกับลักษณะการระบายอากาศของบริเวณที่ทำการรมและอุปกรณ์ช่วยระบายอากาศ เช่น พัดลมชนิด Flash proof รวมทั้งขนาดของกองสินค้าที่ทำการรม สำหรับฟอสฟีนอยู่ระหว่าง 12-24 ชั่วโมง หรือหากใช้ธรรมชาติช่วยเพียงอย่างเดียวอาจใช้เวลานานราว 2-5 วัน หลังจากนั้นจะต้องมีการตรวจสอบปริมาณสารตกค้างว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานหรือไม่ รวมทั้งต้องมีระบบการจัดเก็บเอกสารในการรมยาไว้เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้หากมีการจำเป็น
รายชื่อเอกสารที่เกี่ยวข้อง
อังคณา สุวรรณกูฏ. “สารรมที่ใช้กับผลผลิตพืช”. กสิกร. ปีที่ 86, ฉบับที่ 4 (กรกฏาคม-สิงหาคม 2556), หน้า 17.