คำตอบ
การนำยางพารามาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์กาว เช่น การผลิตกาวติดไม้และกาวติดโลหะนั้น ได้มีการนำน้ำยางธรรมชาติมาดัดแปลงโมเลกุล โดยใช้วิธีลดขนาดโมเลกุลของยางพาราลง จนมีขนาดพอเหมาะแก่ความต้องการของอุตสาหกรรมแต่ละประเภท เพราะขนาดของโมเลกุลของยางมีผลต่อแรงยึดเหนี่ยวระหว่างผิววัสดุโดยตรง การตัดให้โมเลกุลเล็กลงด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ใช้วิธีทางเคมี จะสามารถลดน้ำหนักโมเลกุลลงได้ในระดับหนึ่ง และเมื่อนำมาผ่านกระบวนการต่าง ๆ เพื่อผลิตเป็นกาวแล้วก็จะได้กาวที่มีความแข็งแรงในการเชื่อมติดสูงมาก และจากการศึกษาวิจัยพบว่า น้ำยางธรรมชาติสามารถผลิตกาวยางเพื่อใช้งานทั่วไปและงานไม้ยางที่มีคุณภาพตามมาตรฐานกาวยางและสามารถเพิ่มคุณภาพกาวดีขึ้นโดยการแปรชนิดและปริมาณสารแทคคิไฟเออร์ (tackifier) เพื่อช่วยปรับปรุงความเหนียวและยึดติดในกาวจากน้ำยางธรรมชาติ เช่น phenolic resin, urea formaldehyde resin, wood resin และ coumarone indene resin และสารเพิ่มความหนืด (thickener) คือ แป้งมันสำปะหลัง แป้งสาลี และ methyl cellulose กาวชนิดนี้มีจุดเด่นคือ เป็นกาวที่ได้จากวัตถุดิบธรรมชาติ ไม่มีองค์ประกอบของสารพิษเจือปน เนื่องจากไม่มีตัวทำละลายและมีความแข็งแรงสูงกว่ากาวชนิดอื่น ไม่เหมือนกาวที่ใช้กันทั่วไป ซึ่งมักจะมีฟอร์มาลินเป็นองค์ประกอบและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
รายชื่อเอกสารที่เกี่ยวข้อง
1. สุนิสา สุชาติ. การผลิตกาวจากน้ำยางธรรมชาติเพื่อใช้ในงานไม้ยางพารา. The rubber international. ปีที่ 8 ฉบับที่ 11, พ.ย. 2549. หน้า 38-40.
2. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.). เทคโนโลยียางฝีมือไทย“หาเทคนิคลดรอยรั่ว-ทำกาวปลอดสาร”. The rubber international. ปีที่ 7 ฉบับที่ 12, ธ.ค., 2548. หน้า 69-71.