คำตอบ

จุลินทรีย์เพิ่มธาตุอาหารพืชในดิน ได้แก่ กลุ่มจุลินทรีย์แปรสภาพไนโตรเจน ซึ่งผลิตเอนไซม์โปรตีเอส ย่อยสลายอินทรีย์ไนโตรเจนที่สะสมอยู่ในดิน ให้อยู่ในรูปของไนโตรเจนที่พืชนำไปใช้ได้ จุลินทรีย์ในดินที่มีบทบาทในการย่อยได้แก่ กลุ่มบาซิลลัส (Bacillus) อาโธรแบคเตอร์ (Arthrobacter) สเตรปโตมัยสีท (Streptomyces) แอสเพอร์จิลลัส (Aspergillus) ไนโตรแบคเตอร์ (Nitrobacter) และไนโตรโซโมแนส (Nitrosomonas) จุลินทรีย์ในดินบางชนิดสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศเปลี่ยนให้เป็นสารประกอบไนโตรเจนที่มีประโยชน์ต่อพืชได้ จุลินทรีย์กลุ่มนี้แบ่งย่อยได้เป็น 3 ประเภทตามลักษณะความสัมพันธ์กับพืช ได้แก่

1) แบคทีเรียตรึงไนโตรเจนที่อยู่ร่วมกับพืชแบบพึ่งพาอาศัยกัน (symbiosis N2-fixing bacteria) เช่น เชื้อไรโซเบียม (Rhizobium sp.) กับพืชตระกูลถั่ว

2) แบคทีเรียตรึงไนโตรเจนที่อาศัยอยู่ร่วมกับพืชแบบอิสระ (N2-fixing associated bacteria) เช่น อะโซสไปริลลัม (Azospirillum) พบในพืชตระกูลหญ้า อ้อย ข้าวฟ่าง และข้าวโพด

3) แบคทีเรียที่อาศัยอยู่อย่างอิสระในดินและบริเวณรากพืช (Free-living N2-fixing baxteria) เช่น อะโซโตแบคเตอร์ (Azotobacter) และไบเจอริ่งเคีย (Beijerinckia) นอกจากแบคทีเรียแล้ว สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินหรือไซยาโนแบคทีเรีย (Cyanobacteria) จัดเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งที่สามารถสังเคราะห์แสงและตรึงไนโจนเจนจากอากาศได้ เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่น้ำขัง เช่น ในนาข้าว

รายชื่อเอกสารที่เกี่ยวข้อง

สุวรรณี แทนธานี.  จุลินทรีย์...เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน. วารสารกรมวิทยาศาสตร์บริการ. ปีที่ 60, ฉบับที่ 190 (กันยายน), 2555 หน้า 37