คำตอบ
สาเหตุหลักที่ทำให้อาคารได้รับความเสียหายอย่างมาก ในเหตุการณ์แผ่นดินไหว 6.3 ริกเตอร์ที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีสาเหตุหลักดังนี้
1. การก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานทางวิศวกรรม เสามีขนาดเล็กเกินไป การเสริมเหล็กในเสาไม่ได้มาตรฐาน
2. ชั้นอ่อนของอาคาร เกิดขึ้นกับบ้านที่ก่อสร้างเป็น 2 ชั้น แต่เมื่อเกิดแผ่นดินไหว เสาชั้นล่างถูกทำลายออย่างยับเยิน แล้วทำให้ชั้นบนของบ้านพังลงมากองอยู่ที่พื้นดินแทน
3.การวิบัติของเสาสั้น หรือเสาตอม่อ เสาตอม่อคือเสาที่อยู่ใต้พื้นชั้นล่างของบ้าน เป็นเสาสั้นๆที่มีความสูงเพียงแค่ประมาณ 50-100 ซม. เสาตอม่อได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก สาเหตุจากแรงแผ่นดินไหวทำให้เสาตอม่อ เฉือนขาด หรือปูนแตกระเบิดที่ปลายบนและล่าง ทำให้เสาชั้นบนทรุดลงตามมา และเกิดการวิบัติในที่สุด
4. ระยะห่างของเหล็กปลอกมากเกินไป หัวใจสำคัญของโครงสร้างอาคารต้านแผ่นดินไหวอยู่ที่เหล็กปลอก หรือเหล็กที่พันเป็นปล้องๆรอบเหล็กแกนของเสาเมื่อเกิดแผ่นดินไหว คอนกรีตในเสาจะแตกระเบิดและหลุดแยกออกจากกันเป็นชิ้นๆ เหล็กปลอกจะช่วยยึดคอนกรีตไว้ไม่ให้หลุดออกจากกัน และจากข้อมูลพบว่าการเสริมเหล็กปลอกในเสาเว้นระยะห่างเท่ากับ 20 ซม. ซึ่งมากกว่าที่มาตรฐานกำหนดไว้ถึง 2 เท่า หรือเท่ากับ 10 ซม. จึงเป็นสาเหตุให้คอนกรีตแตกระเบิด และเหล็กแกนบิดเบี้ยวเสียรูป
5. การยึดระหว่างชิ้นส่วนต่างๆไม่เพียงพอ การหลุดแยกออกจากกันระหว่างชิ้นส่วนต่างๆเช่น คานหลุดแยกจากเสา พื้นหลุดแยกจากคาน สาเหตุเกิดจาการใส่เหล็กยึดระหว่างชิ้นส่วนต่างๆไม่เพียงพอ หรือมีระยะฝังเหล็กที่น้อยเกินไป หรือไม่ได้ทำงอฉาก 90 องศาที่ปลายเหล็กเพื่อยึดโครงสร้างเข้าด้วยกัน ในพื้นที่พบว่า เหล็กเสริมในคานที่ฝังเข้าไปในเสาต้นนอกนั้น มีระยะฝังเพียงแค่ 5-10 ซม. เท่านั้น จึงทำให้คาน และเสาหลุดออกจากกัน แล้วทำให้โครงสร้างถล่มเสียหาย
รายชื่อเอกสารที่เกี่ยวข้อง
อมร พิมานมาศ. วิเคราะห์ 5 สาเหตุหลัก โครงสร้างเสียหายจากแผ่นดินไหวเชียงราย. วิศวกรรมสาร. ปีที่ 67 ฉบับที่ 3 (พ.ค-มิ.ย) 2557, หน้า 47-48