คำตอบ

กระเจี๊ยบเขียว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Abelmoschus esculentus (L.) Moench. อยูในวงศ์ Malvaceae มีชื่ออื่น ๆว่า กระเจี๊ยบมอญ กระเจี๊ยบขาว มะเขือมอญ มะเขือพม่า มะเขือทวาย มะเขือละโว้ ถั่วส่าย เป็นต้น กระเจี๊ยบเขียวอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น คาร์โบไฮเดรต เส้นใย โปรตีน โฟเลต แคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แมกนีเซียม เหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 และวิตามิน ซี อยู่ในปริมาณพอสมควร ที่สำคัญกระเจี๊ยบเขียวมีกลูตาไทโอน  (glutathione) มีบทบาทสำคัญควบคุมสารอนุมูลอิสระในร่างกาย การสร้างสารซ่อมแซมเซลล์ และทำปฏิกิริยาขจัดสารพิษที่เกิดในร่างกาย ช่วยต้านมะเร็งได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันนิยมใช้สารนี้เพื่อให้ผิวขาวขึ้น เพราะกลูตาไทโอนสามารถกดการทำงานของเอนไซม์ที่ผลิตเม็ดสีได้ชั่วคราว
นอกจากนี้กระเจี๊ยบเขียวยังเต็มไปด้วยเส้นใยอาหารชนิดไม่ละลายน้ำ ซึ่งเป็นส่วนของพืชผักที่ร่างกายย่อยไม่ได้ และเส้นใยที่ละลายน้ำได้ เช่น เพ็กทินและเมือก ซึ่งเกิดจากสารประกอบ acetylated acidic polysaccharide และกรดกาแล็กทูโลนิก (galactulonic acid) สารเมือกหรือเส้นใยที่ละลายน้ำได้ของกระเจี๊ยบเขียว เมื่อลงสู่ลำไส้ใหญ่จะช่วยในการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่มีประโยชน์ (พรีไบโอติกแบคทีเรีย) ซึ่งจะช่วยลดปริมาณพิษที่ผลิตจากแบคทีเรียที่ไม่มีประโยชน์ที่อาศัยอยู่บริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย

รายชื่อเอกสารที่เกี่ยวข้อง

สุภาภรณ์ ปิติพร.  “กระเจี๊ยบเขียวแหล่งกลูตาไทโอนราชาสารต้านอนุมูลอิสระ”.  หมอชาวบ้าน.  ปีที่ 35, ฉบับที่ 419, (มีนาคม) 2557, หน้า 24-25.