กระชายขาวมีสารบางอย่างที่มีงานวิจัยว่าสามารถช่วยป้องกันโควิด-19 ได้ แต่แพทย์แนะนำให้กินในรูปแบบขางสารสกัด เป็นยา เป็นแคปซูล มากกว่าการซื้อกระชายขาวมากินเอง เพราะในเม็ดยาจะสามารถกำหนดปริมาณของสารที่ป้องกันโควิด-19 ได้อย่างแม่นยำมากกว่า
ทำไมกระชายขาวถึงถูกนำมาอ้างว่าสามารถป้องกันโควิด-19 ได้?
ในช่วงเดือนมิถุนายน 2563 ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ทีมวิจัยที่เป็นการร่วมมือกันของคณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS พบว่า ในกระชายขาว มีสารอยู่ 2 ตัว ที่มีฤทธิ์ต้านโควิด-19 สูงมาก
โดย ดร. ศุภฤกษ์ บวรภิญโญ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา กล่าวว่า ทีมวิจัยค้นพบว่ามีสารสกัดจากกระชายขาวที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ได้ถึง 100% โดยสารสำคัญทั้ง 2 ตัวที่อยู่ในกระชายขาว คือ
- Pandulatin A
- Pinostrobin
สารทั้งสองตัวนี้ในกระชายขาว สามารถทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสต้นเหตุของโควิด-19 ได้ โดยสารทั้งสองตัวนี้สามารถลดจำนวนเซลล์ที่ติดเชื้อจาก 100% ได้ถึง 0% เลยทีเดียว นอกจากนี้ยังสามารถยับยั้งเซลล์ในการผลิตไวรัสได้ถึง 100% อีกด้วย
กินกระชายขาวอย่างไร ถึงจะช่วยป้องกันโควิด-19 ได้?
ปัจจุบัน (ก.ค. 64) หากจะใช้สารสกัดจากกระชายขาวเพื่อต้านโรคโควิด-19 ควรยังอยู่ในรูปแบบของสารสกัดก่อน เพื่อควบคุมปริมาณสารสำคัญที่จะออกฤทธิ์ได้อย่างแน่นอน สามารถควบคุมปริมาณในการกินให้เหมาะสม โดยที่เราไม่ต้องกินเยอะจนเกินไปได้
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS ยังอยู่ในระหว่างการทดลองเก็บข้อมูล ยังไม่มีการผลิตยาใดๆ ออกสู่ตลาดทั้งสิ้น หากพบเห็นยาแคปซูลอื่นๆ ที่อ้างว่ามีสารสกัดจากกระชายขาวที่ช่วยป้องกันโควิด-19 ขอยืนยันว่าไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ของทางมหาวิทยาลัย และทางมหาวิทยาลัยไม่มีความเห็นต่อผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
ดังนั้นในปัจจุบัน ยังไม่มียาหรืออาหารเสริมตัวใดที่ได้รับการรับรองว่าสามารถป้องกันโควิด-19 ได้ และยังขอแนะนำให้ประชาชนล้างมือบ่อยๆ อยู่ห่างๆ จากคนอื่น สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ออกกำลังกายเป็นประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยป้องกันโควิด-19 ได้ดีที่สุด
ที่มา: คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
รูปภาพ : istockphoto