อ่านประมวลสารสนเทศพร้อมใช้ฉบับเต็มที่นี่ >>
บทคัดย่อ :
ปัจจุบันเทคโนโลยีชีวภาพด้านพันธุวิศวกรรมทำให้มีการพัฒนาสายพันธุ์พืชและสัตว์ในระยะเวลาอันรวดเร็วได้ด้วยการถ่ายโอนย้ายยีน(gene)จากสิ่งมีชีวิตหนึ่งไปยังสิ่งมีชีวิตหนึ่ง เพื่อให้ได้ลักษณะและคุณสมบัติตามต้องการ พืชดัดแปรพันธุกรรมหรือพืชจีเอ็มเป็นพืชที่ดัดแปรและตัดต่อสารพันธุกรรมเพื่อปรับปรุงลักษณะด้านการเกษตรและคุณภาพให้ได้ตามต้องการ เช่น ทนต่อยากำจัดวัชพืช ต้านทานยากำจัดแมลงและสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งการเพิ่มสารอาหาร เนื่องจากประชากรโลกเพิ่มขึ้นและพื้นที่ทำการเกษตรมีจำกัด เทคโนโลยีดัดแปรและตัดต่อสารพันธุกรรมพืชจึงเป็นเครื่องมือที่จะให้ความมั่นใจด้านอาหารพอเพียงสำหรับประชากรโลก ปรับปรุงคุณภาพอาหาร ป้องกันและควบคุมโภชนาการที่เกี่ยวข้องกับโรค อาหารที่มาจากการตัดต่อสารพันธุกรรมพืชมีทั้งผู้สนับสนุนและผู้คัดค้าน ความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์หรืออาหารที่มาจากการตัดต่อสารพันธุกรรมพืชจึงเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นจึงต้องมีการทดสอบและประเมินความปลอดภัยอาหารที่ได้จากการตัดต่อสารพันธุกรรม หลายประเทศยอมรับและให้มีการจำหน่ายอาหารที่มาจากการตัดต่อสารพันธุกรรมพืชได้โดยต้องผ่านการทดสอบความปลอดภัยภายใต้กรอบการประเมินความปลอดภัยขององค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ FAO, WHO, CODEX และ OECD ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของการวิเคราะห์ความเสี่ยง ประโยชน์ที่ได้รับ และมีความปลอดภัยเทียบเท่าอาหารที่มาจากพืชธรรมชาติ
คำสำคัญ : อาหารดัดแปรพันธุกรรม; จีเอ็มโอ; ยีน; พันธุวิศวกรรม; การประเมินความปลอดภัยของอาหาร
Keywords : GM foods; GMOs; Gene; Genetic engineering; Food safety assessment