อ่านประมวลสารสนเทศพร้อมใช้ฉบับเต็มที่นี่ >>
บทคัดย่อ :
ซาโปนินเป็นไกลโคไซด์ (glycoside) ที่พบในพืชเป็นส่วนใหญ่ พบบ้างในสัตว์ เช่น ปลาดาวและแตงกวาทะเล โครงสร้างของซาโปนินประกอบด้วยส่วนที่ไม่ใช่น้ำตาล (aglycone) ซึ่งเป็นสารจำพวกไตรเทอร์ปีนส์ (triterpenes) หรือสเตียรอยด์อะไกลโคน (steroidal aglycone) เรียกส่วนนี้ว่า ซาโปจินิน (sapogenin) และส่วนที่เป็นน้ำตาลเรียกว่า ไกลโคน (glycone) ซึ่งเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวหรือโมเลกุลมากกว่าหนึ่งหน่วย ไตรเทอร์ปีนอยด์ซาโปนิน ส่วนใหญ่พบในพืชใบเลี้ยงคู่ ส่วนสเตียรอยด์ซาโปนินพบในพืชใบเลี้ยงเดี่ยว โมเลกุลของซาโปนินมีส่วนที่ละลายในน้ำและส่วนที่ละลายได้ในไขมัน ทำให้มีคุณสมบัติทางเคมีฟิสิกส์และชีววิทยาหลากหลาย ซาโปนินมีคุณสมบัติเป็นสารลดแรงตึงผิว เป็นสารทำให้เกิดฟอง เป็นสารต้านจุลินทรีย์ ต้านเชื้อรา กำจัดศัตรูพืช ต้านมะเร็ง ลดคอเลสเตอรอล ฯลฯ แต่มีข้อเสียคือ เมื่อกลืนเข้าไปจะทำให้เกิดลมพิษ (urticaria) หรือผื่นคัน (skin rash) ได้ในมนุษย์ และทำให้เกิดการแตกตัวของเม็ดเลือดแดงขณะปล่อยฮีโมโกลบินออกมา ถ้าฉีดเข้าในร่างกาย (hemolysis of blood cell) อีกทั้งซาโปนินยังเป็นพิษต่อสัตว์เลือดเย็น มีการนำไปประยุกต์ใช้ในอาหารคนและสัตว์ เครื่องสำอางและทางเภสัชกรรม ตลอดจนการพัฒนากระบวนการผลิต การสกัด การทำสารให้บริสุทธิ์และนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ การตรวจหาซาโปนินในพืชด้านคุณภาพและปริมาณสามารถทำด้วยวิธีทางชีวภาพ โครมาโตกราฟและสเปคโตรโฟโตเมตรี
คำสำคัญ : ซาโปนิน; สารลดแรงตึงผิว; คอเลสเตอรอล; อะไกลโคน
Keywords : Saponin; Surfactants; Cholesterol; Aglycone; Glycogenin; Sapotoxin