จากสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ที่กำลังระบาดอย่างต่อเนื่องนั้น ทำให้หลายคนต้องทำงานที่บ้าน (Work from Home) การสั่งอาหารมารับประทานที่บ้านเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอาหารฟาสต์ฟู้ด ทำให้เพลิดเพลินกับการรับประทานอาหารที่มากเกินความต้องการ และหากไม่ได้รับการออกกำลังกายที่เพียงพอ ก็จะทำให้มีปริมาณไขมันสะสมในร่างกายสะสมมากเกินปกติ ทำให้เกิดปัญหาน้ำหนักเกิน กลายเป็นโรคอ้วนและอ้วนลงพุงตามมานั่นเอง
ตัวบ่งชี้ว่าอ้วน สามารถดูได้จาก ดัชนีมวลกายและเส้นรอบเอว
- ดัชนีมวลกาย หรือ ค่าบีเอ็มไอ (Body Mass Index: BMI) หมายถึง อัตราส่วนระหว่างน้ำหนักและส่วนสูง เพื่อใช้เป็นตัวชี้วัดสภาวะของร่างกายว่ามีความสมดุลพอเหมาะหรือไม่
วิธีคำนวณดัชนีมวลกาย
ดัชนีมวลกาย (BMI) = น้ำหนัก (กิโลกรัม) / ส่วนสูง 2 (เมตร)
ตัวอย่างเช่น น้ำหนัก 57 กิโลกรัม ส่วนสูง 1.63 เมตร
ดัชนีมวลกาย (BMI) = 57 /(1.63)2 = 21.45 อยู่ในเกณฑ์น้ำหนักปกติ
กลุ่ม |
เกณฑ์คนเอเชีย |
น้ำหนักน้อย |
ดัชนีมวลกาย น้อยกว่า 18 |
น้ำหนักปกติ |
ดัชนีมวลกาย 18.5 - 22.99 |
น้ำหนักเกิน |
ดัชนีมวลกาย 23 - 24.99 |
อ้วนระดับ 1 |
ดัชนีมวลกาย 25 - 29.99 |
อ้วนระดับ 2 |
ดัชนีมวลกาย เท่ากับหรือมากกว่า 30 |
- เส้นรอบเอว การวัดเส้นรอบเอวควรวัดในช่วงเช้า ขณะยังไม่ได้รับประทานอาหาร ตำแหน่งที่วัดไม่ควรมีเสื้อผ้าปิด หากมีให้เป็นเสื้อผ้าเนื้อบาง โดยมีวิธีการ ดังนี้
- อยู่ในท่ายืน เท้า 2 ข้างห่างกันประมาณ 10 เซนติเมตร
- หาตำแหน่งขอบบนสุดของกระดูกเชิงกรานและขอบล่างของชายโครง
- ใช้สายวัดพันรอบเอวที่ตำแหน่งจุดกึ่งกลางระหว่างขอบบนของกระดูกเชิงกรานและขอบล่างของชายโครง โดยให้สายวัดอยู่ในแนวขนานกับพื้น
- วัดในช่วงหายใจออก โดยให้สายวัดแนบกับลำตัวพอดีไม่รัดแน่น
ทั้งนี้ หากเพศหญิงมีเส้นรอบเอว มากกว่า 80 เซนติเมตร หรือ 32 นิ้ว และ เพศชายมีเส้นรอบเอว มากกว่า 90 เซนติเมตร หรือ 36 นิ้ว สามารถบ่งชี้ได้ว่าอยู่ใน “ภาวะอ้วนลงพุง”
ภาวะอ้วนลงพุง หรือ ภาวะเมตาบอลิกซินโดรม คือ ภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของกระบวนการเผาผลาญอาหารในร่างกาย ทำให้มีไขมันสะสมในช่องท้อง หรืออวัยวะในช่องท้องมากเกินควร เมื่อมีไขมันในช่องท้องมากๆ จะเห็นหน้าท้องยื่นออกมาชัดเจน
เกณฑ์การวินิจฉัยภาวะอ้วนลงพุง สำหรับคนเอเชีย หากมีความผิดปกติของร่างกายอย่างน้อย 3 ใน 5 ข้อ นี้ จัดว่ามี “ภาวะอ้วนลงพุง”
- เส้นรอบเอว ในเพศหญิง มากกว่า 80 เซนติเมตรขึ้นไป และในเพศชาย มากกว่า 90 เซนติเมตรขึ้นไป
- ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- ระดับความดันโลหิต 130 ต่อ 85 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป
- ระดับไขมัน HDL-คลอเรสเตอรอล ในเพศหญิง น้อยกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ในเพศชาย น้อยกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- ระดับไตรกลีเซอไรด์ มากกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
การป้องกันตนเองจากโรคอ้วนและอ้วนลงพุง
การป้องกันตนเองไม่ให้ตกอยู่ในโรคอ้วนและอ้วนลงพุงนั้น สามารถทำได้โดยการควบคุมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมต่างๆ ให้เพียงพอกับพลังงานที่ได้รับและเสียไปในแต่ละวัน โดยในแต่ละคนจะมีความต้องการพลังงานที่แตกต่างกันไป สามารถคำนวณความต้องการพลังงานที่ต้องการ ได้ดังนี้
ความต้องการพลังงาน (แคลอรี่ต่อวัน) = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) x 30
ตัวอย่างเช่น เรามีน้ำหนักตัว 57 กิโลกรัม ดังนั้น ความต้องการพลังงาน = 57 x 30 = 1,710 แคลอรี่ต่อวัน
จะเห็นได้ว่า การป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคอ้วนและอ้วนลงพุงนั้น ไม่ใช่เรื่องยาก หากเรามีวินัยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร โดยเฉลี่ยให้ร่างกายได้รับพลังงานที่เพียงพอ ให้ครบทั้ง 3 มื้ออาหาร ตามความต้องการพลังงานในแต่ละวันและออกกำลังกายให้เพียงพอ เพื่อควบคุมร่างกายให้มีความสมดุล และหมั่นตรวจสอบร่างกายโดยการวัดดัชนีมวลกายและวัดเส้นรอบเอวว่าเป็นไปตามเกณฑ์กำหนดหรือไม่ เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถห่างไกลจากโรคอ้วนและอ้วนลงพุงได้แล้ว
หากท่านต้องการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคอ้วนและอ้วนลงพุง หรือข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่น่าสนใจ ในรูปแบบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ สามารถดาวน์โหลดได้จากแอปพลิเคชัน Science eBook Library
เอกสารอ้างอิง
ดนัย อังควัฒนวิทย์ และ กิติยา สุวรรณสิทธิ์. อ้วนลงพุง. @รามา. 2558, (19) มีนาคม, 3 หน้า.
วราพรรณ วงษ์จันทร์. ภาวะเมตาบอลิกซินโดรมวัยผู้ใหญ่ : การจัดการตนเอง. วารสารพยาบาลทหารบก. 2561
(19) ฉบับพิเศษ พฤษภาคม – สิงหาคม, 16-24. [ออนไลน์]. [อ้างถึงวันที่ 26 มกราคม 2564]. เข้าถึงจาก : https://he01.tci-thaijo.org/index.php/JRTAN/article/download/156012/113257/
วรรณี นิธิยานันท์. เกณฑ์กำหนดและกลไกลการเกิดอ้วนและอ้วนลงพุง. อ้วนและอ้วนลงพุง. กรุงเทพ : บริษัท สุขุมวิทมีเดีย มาร์เก็ตติ้ง จำกัด, 2554. 1-8.
สำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย. คนไทยผจญภัยอ้วน. สัญญาณสุขภาพ. 2554, 1(1) มกราคม, 18 หน้า.
-
ผู้เรียบเรียง : นางสาวพนารัตน์ มอญใต้ สำนักหอสมุดและศูนย์สารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี