ก้อนเมฆ คือกลุ่มละอองน้ำขนาดเล็กที่เกิดจากการควบแน่นของหยดน้ำในอากาศ การที่มองเห็นก้อนเมฆเป็นสีขาวหรือสีเทานั้น ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของหยดน้ำและอุณหภูมิ โดยทั่วไปการสังเกตก้อนเมฆง่าย ๆ หากเรามองเห็นก้อนเมฆเป็นสีขาวลอยสูงถือว่าเป็นวันที่อากาศดี ส่วนเมฆสีดำครึ้มลอยต่ำแสดงว่าจะมีฝนหรือพายุพัดเข้ามา ปัจจุบัน สามารถเช็คพยากรณ์อากาศได้ง่ายผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟน

อย่างไรก็ตามเราสามารถสังเกตก้อนเมฆบนท้องฟ้า เพื่อดูสภาพอากาศที่กำลังจะเกิดขึ้น รูปร่างลักษณะก้อนเมฆ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ เมฆก้อน (Cumuliform) เมฆแผ่น (Stratifrom) เมฆฝอย (Cirriform) ดูภาพเพิ่มเติม เมฆ 10 สกุลหลัก ตามรูปร่างและความสูงที่เกิด ได้ที่ : https://www.dss.go.th/a/qr/GJZzh โดยนักอุตุนิยมวิทยาแบ่งเมฆในชั้นบรรยากาศโทรโพสเฟียร์ตามระดับความสูงเป็นสามระดับ ดังนี้

เมฆแต่ละชั้น สัมพันธ์กับสภาพอากาศอย่างไรบ้าง
ระดับที่ 1 เมฆชั้นต่ำ ฐานเมฆก่อตัวจากพื้นดินไม่เกิน 2 กิโลเมตร องค์ประกอบหลักคือหยดน้ำธรรมดาที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 0 องศาเซลเซียส ได้แก่
- สเตรตัส (Stratus) เมฆที่มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ ลอยแนวนอนคล้ายหมอก แต่ไม่ติดพื้น
- คิวมูลัส (Cumulus) มีลักษณะเป็นก้อนเดี่ยว ก่อตัวในแนวตั้ง อาจมีขนาดเล็ก หรือมียอดเมฆสูงถึงชั้นกลาง
- สเตรโตคิวมูลัส (Stratocumulus) เป็นก้อนเมฆย่อยสีเทาหรือสีขาว อยู่ติดกันเป็นแพ มักพบเมฆสเตรโตคิวมูลัสในวันที่มีเมฆมาก เมฆชนิดนี้ก่อตัวขึ้นเนื่องจากในชั้นบรรยากาศมีการพาความร้อนต่ำ

ระดับที่ 2 เมฆชั้นกลาง ฐานเมฆก่อตัวจากพื้นดินที่ระดับความสูง 2 – 6 กิโลเมตร องค์ประกอบหลักคือหยดน้ำเย็นยิ่งยวด แต่บริเวณยอดเมฆอาจมีผลึกน้ำแข็งปะปนอยู่ด้วย ได้แก่
- แอลโตคิวมูลัส (Altocumulus) เมฆก้อนสีเทาหรือสีขาว เมื่ออยู่รวมกันดูคล้ายฝูงแกะ ลอนคลื่น หรือติดกันเป็นแผ่นหนา
- นิมโบสเตรตัส (Nimbostratus) ลักษณะเป็นแผ่นสีเทา ตัวเมฆอยู่ชั้นกลางแต่ฐานอยู่ชั้นต่ำ ทำให้เกิดฝนตกต่อเนื่อง
- แอลโตสเตรตัส (Altostratus) มีลักษณะเป็นแผ่นหนา และปกคลุมท้องฟ้าเป็นบริเวณกว้าง ปกติจะมีสีเทาเพราะบดบังแสงอาทิตย์

ระดับที่ 3 เมฆชั้นสูง ฐานเมฆก่อตัวจากพื้นดินที่ระดับสูงมากกว่า 6 กิโลเมตร องค์ประกอบหลักคือผลึกน้ำแข็ง เนื่องจากอุณหภูมิเย็นจัด หยดน้ำเย็นยิ่งยวดเป็นน้ำมีอุณภูมิต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส ได้แก่
- ซีร์โรคิวมูลัส (Cirrocumulus) เป็นเมฆสีขาว จับตัวเป็นก้อน คล้ายลักษณะลอนคลื่น หรือบางครั้งเป็นริ้ว
- ซีร์โรสเตรตัส (Cirrostratus) เป็นเมฆแผ่นสีขาว ปกคลุมท้องฟ้า ทำให้เกิดดวงอาทิตย์ทรงกลด
- ซีร์รัส (Cirrus) มีลักษณะเป็นปุยสีขาว หรือเป็นเส้นคล้ายขนนก
- คิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus) ก้อนเมฆขนาดใหญ่มาก สัมพันธ์กับพายุฝน ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า และสภาพอากาศรุนแรง

ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น และรูปแบบของฤดูฝนที่เปลี่ยนแปลงไป เรื่องของสภาพอากาศ หากเรารู้ได้ล่วงหน้าก็สามารถวางแผนและเตรียมตัวได้ทัน เช่น ใช้เทคโนโลยีเช็คพยากรณ์อากาศได้ผ่านแอปพลิเคชันบนหน้าจอสมาร์ทโฟน หรือเปลี่ยนมาลองสังเกตก้อนเมฆที่ลอยอยู่บนท้องฟ้า ที่มีความหลากหลาย ทั้งรูปร่าง ลักษณะ และจากระดับความสูงต่ำที่แตกต่างกันไป เพื่อสังเกตดูว่าเมฆชนิดไหนทำให้เกิดฝนพร่ำ หรือทำให้เกิดฝนตกหนัก จะได้เตรียมพร้อมรับมือกับสภาพอากาศ ฟ้า ฝน ได้ทันเวลา

เอกสารอ้างอิง
บัญชา ธนบุญสมบัติ. Cloud Guidebook คู่มือเมฆและปรากฏการณ์บนท้องฟ้า. กรุงเทพ :
สำนักพิมพ์สารคดี 2554. https://www.dss.go.th/a/qr/YxXY3
ทำความรู้จักเมฆแต่ละชนิด [ออนไลน์]. [เข้าถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2566]. เข้าถึงจาก :
https://ngthai.com/science/2949/type-of-clouds/
สังเกตเมฆ [ออนไลน์]. [เข้าถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2566]. เข้าถึงจาก :
https://www.scimath.org/article-science/item/7574-2017-10-17-02-04-19
สังเกต ‘เมฆ’ ให้เป็น รู้ทันสภาพอากาศ [ออนไลน์]. [เข้าถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2566]. เข้าถึงจาก :
https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/892728

นอกจากนี้ สามารถดูรายการสารสนเทศที่น่าสนใจได้จากบัญชีรายชื่อเอกสารใหม่ (e-New list) คลิกเลย >> https://www.dss.go.th/a/qr/mPyEw หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ One Stop Service หอสมุดวิทยาศาสตร์ ดร.ตั้ว ลพานุกรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ
☎️ Tel. : 0 2201 7250-5
📨 e-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
🟢 Line : @SLTD
🔵 Facebook : ScienceLibraryDSS
🌐 Website : https://siweb.dss.go.th