ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรการควบคุมกำกับการขนมูลฝอยติดเชื้อเพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2565

โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID
-19)) ของประเทศ ส่งผลให้เกิดมูลฝอยติดเชื้อมีปริมาณมากขึ้นจากกิจกรรมการรักษาพยาบาลและการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ของสถานพยาบาล ห้องปฏิบัติการเชื้ออันตราย รวมถึงสถานพยาบาลชั่วคราวมีการจัดตั้งขึ้นและแหล่งกำเนิดมูลฝอยติดเชื้ออื่น ๆ
ประกอบกับมีปัญหาการลักลอบทิ้งมูลฝอยติดเชื้อเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ อันเนื่องมาจากระบบควบคุมกำกับการขนมูลฝอยติดเชื้อ รวมถึงระบบการจัดเก็บข้อมูลการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อจากทุกแหล่งกำเนิดที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจก่อให้เกิดแหล่งแพร่กระจายของเชื้อโรคในชุมชนและกระทบสิ่งแวดล้อม จึงสมควรกำหนดมาตรการควบคุมกำกับการขนมูลฝอยติดเชื้อ เพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งมูลฝอยติดเชื้อจากแหล่งกำเนิดไปยังสถานที่กำจัดอย่างถูกต้อง และไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนรวมทั้งเกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม อาศัยอำนาจตามความในข้อ 21 (5) แห่งกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรการควบคุมกำกับการขนมูลฝอยติดเชื้อเพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2565”

ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 ในประกาศนี้ 

“มูลฝอยติดเชื้อ” หมายความว่า มูลฝอยติดเชื้อตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ

“สถานที่พักรวม” หมายความว่า ที่พักรวมมูลฝอยติดเชื้อ ที่พักภาชนะบรรจุมูลฝอยติดเชื้อของแหล่งกำเนิดหรือสถานที่ที่ราชการส่วนท้องถิ่นกำหนดหรือจัดให้

“การขน” หมายความว่า การขนมูลฝอยติดเชื้อจากสถานที่พักรวม เพื่อนำไปยังสถานที่พักรวมของแหล่งกำเนิดอีกแห่งหนึ่งหรือการขนจากสถานที่พักรวม เพื่อนำไปกำจัดยังสถานที่กำจัด

“แหล่งกำเนิด” หมายความว่า สถานบริการการสาธารณสุข และห้องปฏิบัติการเชื้ออันตราย และให้หมายความรวมถึงแหล่งกำเนิดอื่นตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการกำหนดประเภทมูลฝอยหรือแหล่งกำเนิดมูลฝอยติดเชื้ออื่นที่ถือว่าเป็นมูลฝอยติดเชื้อ ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ

ข้อ 4 ผู้ขนมูลฝอยติดเชื้อต้องเป็นหน่วยงาน หรือบุคคลที่ดำเนินการรับขนมูลฝอยติดเชื้อ ดังนี้

(1) ราชการส่วนท้องถิ่นที่มีอำนาจตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง
(2) ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นหรือหน่วยงานของรัฐที่ราชการส่วนท้องถิ่นนั้นมีข้อตกลงดำเนินการร่วมกันตามมาตรา 18 วรรคสอง
(3) ผู้ได้รับมอบหมายจากราชการส่วนท้องถิ่นที่มีอำนาจตามมาตรา 18 วรรคสาม
(4) ผู้ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 19

ข้อ 5 ผู้รับกำจัดมูลฝอยติดเชื้อต้องเป็นหน่วยงานหรือบุคคลที่ดำเนินการรับกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ ดังนี้

(1) ราชการส่วนท้องถิ่นที่มีอำนาจตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง
(2) ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นหรือหน่วยงานของรัฐที่ราชการส่วนท้องถิ่นนั้นมีข้อตกลงดำเนินการร่วมกันตามมาตรา 18 วรรคสอง
(3) ผู้ได้รับมอบหมายจากราชการส่วนท้องถิ่นที่มีอำนาจตามมาตรา 18 วรรคสาม
(4) ผู้ได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 19

ข้อ 6 การขนมูลฝอยติดเชื้อ ให้ผู้มีหน้าที่ดูแลแหล่งกำเนิดมูลฝอยติดเชื้อ ผู้รับขนมูลฝอยติดเชื้อและผู้รับกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ แล้วแต่กรณี ต้องบันทึกข้อมูลในระบบควบคุมกำกับการขนส่งมูลฝอยติดเชื้อ (Manifest System) ตามที่อธิบดีกรมอนามัยกำหนดทุกครั้ง ที่มีการขนมูลฝอยติดเชื้อ

ข้อ 7 การขนมูลฝอยติดเชื้อจากสถานที่พักรวมมูลฝอยติดเชื้อของแหล่งกำเนิดมูลฝอยติดเชื้อเพื่อนำไปกำจัดยังสถานที่กำจัดมูลฝอยติดเชื้อ ผู้รับขนมูลฝอยติดเชื้อต้องจัดให้มีมาตรการควบคุมกำกับการขนมูลฝอยติดเชื้อ เพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งมูลฝอยติดเชื้อ ดังนี้

(1) จัดให้มีมาตรการควบคุมและติดตามเส้นทางการขนมูลฝอยติดเชื้อด้วยระบบบอกตำแหน่ง (Global Positioning System
(GPS))
(2) ผู้รับขนมูลฝอยติดเชื้อมีหน้าที่ขนมูลฝอยติดเชื้อไปยังสถานที่กำจัดในกรณีผู้ขนมูลฝอยติดเชื้อที่รับมาจากผู้ขนมูลฝอยติดเชื้ออื่นอีกทอดหนึ่งหรือมีการขนถ่ายมูลฝอยติดเชื้อจากยานพาหนะคันหนึ่งไปอีกคันหนึ่ง ต้องดำเนินการในสถานที่ที่จัดไว้เฉพาะ และมีมาตรการควบคุมดูแล และป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม
(3) จัดให้มีมาตรการควบคุมกำกับการปฏิบัติงานของผู้ขับขี่ยานพาหนะขนมูลฝอยติดเชื้อเพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งมูลฝอยติดเชื้อระหว่างการขน และผู้ขับขี่ยานพาหนะขนมูลฝอยติดเชื้อต้องขับขี่ยานพาหนะตามเส้นทางและระยะเวลาที่ราชการส่วนท้องถิ่นกำหนด
(4) จัดให้มีมาตรการป้องกันและควบคุมการเกิดอุบัติภัยหรือเหตุฉุกเฉินระหว่างการขนส่งมูลฝอยติดเชื้อ ในกรณีมีอุบัติเหตุหรือเหตุฉุกเฉิน เป็นเหตุให้มูลฝอยติดเชื้อรั่วไหลออกมาจากยานพาหนะผู้รับขนมูลฝอยติดเชื้อต้องดำเนินการแก้ไขเหตุดังกล่าวให้อยู่ในสภาพที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม และแจ้งอุบัติเหตุหรือเหตุฉุกเฉินให้ราชการส่วนท้องถิ่นที่เกิดเหตุหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบทันที และให้ผู้รับขนมูลฝอยติดเชื้อเก็บสำเนารายงานดังกล่าวไว้อย่างน้อย 3 ปี นับจากวันที่เกิดอุบัติภัยหรือเหตุฉุกเฉิน

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอนพิเศษ 58 ง (11 มีนาคม พ.ศ. 2565) หน้า 8-10

https://ratchakitcha2.soc.go.th/pdfdownload/?id=139D058S0000000000800