ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ว่าด้วยจริยธรรมการวิจัยทั่วไป พ.ศ. 2565

     โดยที่เป็นการสมควรกำหนดจริยธรรมการวิจัยทั่วไป เพื่อเป็นแนวทางให้นักวิจัยยึดถือประพฤติปฏิบัติ และมีกระบวนการรักษาจริยธรรมการวิจัย เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณและชื่อเสียง และฐานะของความเป็นนักวิจัยที่มีคุณภาพ คุณธรรม และจริยธรรม ให้เป็นที่ยอมรับของ ประชาคมวิจัย และประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 33 (1) แห่งพระราชบัญญัติการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 ประกอบกับมาตรา 41 (10) แห่งพระราชบัญญัติสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562 คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมโดยความเห็นชอบของสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ จึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ว่าด้วยจริยธรรมการวิจัยทั่วไป พ.ศ. 2565”

ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 ในระเบียบนี้

“จริยธรรมการวิจัยทั่วไป” หมายความว่า หลักเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติและวิธีปฏิบัติที่ดีของนักวิจัยและหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมที่ต้องยึดถือปฏิบัติ

“การวิจัย” หมายความว่า การศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์ หรือทดลองอย่างเป็นระบบอันจะทำให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริง ความรู้ใหม่ หรือหลักการไปใช้ในการตั้งกฎ ทฤษฎี แนวทางในการปฏิบัติ เพื่อเป็นพื้นฐานของการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปวิทยาการแขนงต่าง ๆ รวมทั้งเพื่อสร้างนวัตกรรม อันจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

“นวัตกรรม” หมายความว่า ผลิตภัณฑ์ สิ่งประดิษฐ์ บริการ กรรมวิธี ที่เกี่ยวกับการผลิต การจัดโครงสร้างองค์กร ระบบบริหารจัดการ การบริหารการเงิน ธุรกิจ การตลาด หรือในการอื่นใด ทั้งนี้ ซึ่งเป็นสิ่งใหม่หรือพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญและนำไปใช้ประโยชน์ได้ในวงกว้างทั้งในเชิงพาณิชย์และสาธารณะ

“นักวิจัย” หมายความว่า บุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งทำการวิจัย และให้หมายความรวมถึงผู้ร่วมศึกษาวิจัย ผู้ช่วยวิจัย และปราชญ์ชาวบ้านหรือนักวิจัยท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้ได้รับทุนให้ศึกษาวิจัย โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นไปผสมผสานกับความรู้ใหม่เพื่อสร้างผลงานนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงนโยบาย เชิงพาณิชย์ เชิงสังคม หรือเชิงสาธารณประโยชน์ด้วย

“หน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม ” หมายความว่า หน่วยงานของรัฐและเอกชน รวมทั้ง สถาบันอุดมศึกษา ที่ดำเนินการเกี่ยวกับการวิจัยและนวัตกรรม

“ผลงานวิจัย” หมายความว่า ข้อค้นพบหรือผลที่เกิดขึ้นจากการวิจัยหรือการสร้างนวัตกรรม โดยการค้นคว้า การทดลอง การสำรวจหรือการศึกษา รวมถึงองค์ความรู้ การประดิษฐ์ กระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ กระบวนการบริการ หรือการจัดการในรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นข้อค้นพบใหม่หรือพัฒนา ให้ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญและนำไปใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่ก็ตาม

“กสว.” หมายความว่า คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมตามกฎหมาย ว่าด้วยสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2562

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัย

“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

ข้อ 4 ให้ประธาน กสว. รักษาการตามระเบียบนี้

หมวด 1 บททั่วไป

ข้อ 5 จริยธรรมการวิจัยทั่วไปให้เป็นไปตามที่กำหนดในระเบียบนี้ และตามพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์การวิจัยและข้อกำหนดจริยธรรมการวิจัยซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เว้นแต่ในกรณีที่มีกฎหมายหรือกฎกำหนดจริยธรรม การวิจัยเรื่องใดไว้โดยเฉพาะและมีหลักเกณฑ์จริยธรรมที่มีมาตรฐานในการปฏิบัติไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ ที่กำหนดในระเบียบนี้ ให้ปฏิบัติไปตามที่กำหนดไว้ในจริยธรรมการวิจัยดังกล่าว

ข้อ 6 การวิจัยต้องยึดถือและปฏิบัติตามหลักการ ดังนี้ (1) ความซื่อสัตย์สุจริต (honesty ) (2) การมีมาตรฐานการวิจัยอย่างเคร่งครัด (rigour ) (3) ความโปร่งใสและการสื่อสารโดยเปิดเผย (transparency and open communication ) (4) การมีศีลธรรม คุณธรรม มนุษยธรรม นิติธรรม และความเคารพผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย (5) ความรับผิดรับชอบและถูกตรวจสอบได้ (accountability ) ....

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอนพิเศษ 290 ง (14 ธันวาคม พ.ศ. 2565) หน้า 5-12

https://rkj.soc.go.th/DATA/PDF/2565/E/290/t_0005.pdf