คำตอบ
สีย้อม เป็นสารเคมีที่สกัดจากน้ำมันปิโตรเลียมหรือถ่านหิน เมื่อน้ำมันปิโตรเลียมหรือถ่านหินผ่านการสกัดจะได้สารไอโดรคาร์บอนที่ไม่อิ่มตัว เช่น เบนซิน ไซลีน แอนทราซีน โทลูอีน แนฟทาลีน และพาราฟิน ซึ่งสารไฮโดรคาร์บอนเหล่านี้ จะถูกเปลี่ยนเป็นสีย้อมด้วยเทคนิคต่างๆ ซึ่งสีย้อมที่ผลิตขึ้นมามีหลายชนิดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับเส้นใยและกระบวนการย้อมที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไป
สีย้อมเป็นสารที่จัดได้ว่ามีความเป็นพิษต่ำ โดยไม่พบว่ามีอัตราการตายหรือเจ็บป่วยของผู้ที่ทำงานในโรงงานฟอกย้อมสูงกว่าบุคคลอาชีพอื่นแต่อย่างใด สีย้อมอาจเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ ทางจมูกโดยการสูดดม ทางผิวหนังโดยการสัมผัส และทางระบบทางเดินอาหาร แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าสารวัตถุดิบที่ใช้ในการสังเคราะห์สีย้อม มีจำนวนไม่น้อยที่มีความเป็นพิษสูงมากและมีหลายตัวเป็นสารก่อมะเร็ง เช่น 2-naphthylamine และ benzidine เป็นต้น
ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากสีย้อมในน้ำทิ้งจากโรงงาน คือ ก่อให้เกิดความไม่สวยงามทางทัศนียภาพ ขัดขวางการเดินทางของแสง ซึ่งจำเป็นต่อการสังเคราะห์แสงของพืชน้ำ ลดอัตราถ่ายเทออกซิเจนจากผิวหน้าสู่แหล่งน้ำ ทำให้ปริมาณออกซิเจนในน้ำลดต่ำลงกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ และมีความเป็นพิษและเป็นสารก่อมะเร็ง
รายชื่อเอกสารที่เกี่ยวข้อง
นิตยา ผาสุขพันธุ์. การบำบัดสีย้อมผ้าจากน้ำเสียโรงงานฟอกย้อมสิ่งทอด้วยจุลินทรีย์. วารสารสิ่งแวดล้อม. ปีที่ 19, ฉบับที่ 1 (มกราคม-มีนาคม) 2558, หน้า 17.