คำตอบ

Self-healing polymer materials หรือ วัสดุพอลิเมอร์ที่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้เมื่อได้รับความเสียหาย โดยวัสดุนี้สร้างเลียนแบบผิวหนังของมนุษย์ ถ้าผิวชั้นนอกที่ช่วยในการปกป้องถูกทำลาย ผิวชั้นในซึ่งหนาแน่นไปด้วยหลอดเลือดขนาดเล็กจะทำหน้าที่ในการลำเลียงสารอาหารไปยังบริเวณบาดแผลเพื่อซ่อมแซม สำหรับวัสดุนี้จะประกอบด้วยชั้นของอีพอกซีพอลิเมอร์เคลือบอยู่บนซับสเตรตที่มีท่อขนาดจิ๋ว (microchannel) เรียงตัวเป็นโครงร่างตาข่ายแบบ 3 มิติอยู่ โดยอีพอกซีนี้จะประกอบไปด้วยอนุภาคขนาดเล็กของแคทาลิสต์ในขณะที่ท่อขนาดจิ๋วมีสารสำหรับซ่อมแซมบรรจุอยู่ (healing agent)
สำหรับการทดสอบวัสดุนี้ นักวิจัยได้หักทำลายผิวเคลือบพอลิเมอร์ โดยให้รอยแตกที่เกิดขึ้นลึกลงไปถึงชั้นที่มีท่อขนาดจิ๋ว ทันทีของเหลวที่ช่วยในการซ่อมแซมภายในท่อขนาดจิ๋วไหลไปถึงรอยแตกและสัมผัสกับแคทาลิสต์ ในเวลาเพียง 10 ชั่วโมง จะเกิดการเชื่อมต่อของพอลิเมอร์ระหว่างรอยแตกนั้น ระบบนี้ไม่ต้องอาศัยความดันจากภายนอกในการทำให้ของเหลวที่ช่วยในการซ่อมแซมไหลไปถึงรอยแตก แต่ของเหลวนี้จะไหลไปตามท่อขนาดจิ๋วเอง คล้ายกับน้ำไหลขึ้นมาในหลอดดูดขนาดเล็กนับเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญที่วัสดุจะสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับเครื่องบินและยานอวกาศ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในการระบายความร้อนให้กับไมโครโปรเซสเซอร์และวงจรอิเล็กทรอนิกส์อีกทั้งยังเป็นแนวทางสำหรับงานเคลือบพลาสติกโดยที่พลาสติกจะสามารถสร้างผิวเคลือบได้เอง

รายชื่อเอกสารที่เกี่ยวข้อง

สลิลดา บุตรกินรี. วารสารการบรรจุภัณฑ์. (เมษายน-มิถุนายน),  2554,  ปีที่ 19, ฉบับที่ 3, หน้า 28-29.