คำตอบ

การเผาไหม้ของยางล้อถือว่าเป็นเรื่องอันตรายเพราะจะมีการปลดปล่อยก๊าซพิษจำนวนมากออกมาในระดับที่มีความเข้มข้นค่อนข้างสูง ซึ่งก๊าซพิษเหล่านี้ ได้แก่ ไนโทรเจนออกไซด์ (NOx) ซัลเฟอร์ออกไซด์ (SOx) และคาร์บอนมอนออกไซด์ (CO) นอกจากนี้ยังมีการปลดปล่อยสารที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศอื่น ๆ เช่น ไดออกซิน ฟิวแรน ไฮโดรเจนคลอไรด์ เบนซีน สารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มีวงแหวนอะโรมาติกจำนวนมาก รวมถึงโลหะต่าง ๆ เป็นต้น สารพิษที่ถูกปลดปล่อยออกมาเหล่านี้บางชนิดเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น เบนซีน สารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มีวงแหวนอะโรมาติดจำนวนมาก รวมถึงไดออกซินและฟิวแรนซึ่งเป็นสารประกอบอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอนที่มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบมีชื่อเต็มว่าโพลิคลอริเนตไดเบนโซไดออกซิน (PCDD) และโพลิคลอริเนตไดเบนโซฟิวแรน (PCDF) ไดออกซินและฟิวแรนต่างก็เป็นสารพิษรุนแรงที่สลายตัวยาก สามารถละลายได้ดีในไขมันและเข้าไปสะสมในสิ่งมีชวิตทั้งพืชและสัตว์ (เข้าไปอยู่ในระบบห่วงโซ่อาหาร) ส่งผลทำให้ผู้บริโภคพืชหรือสัตว์ได้รับสารพิษเข้าไปและเกิดการสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งถ้าหากได้รับสารพิษเหล่านี้ในปริมาณที่สูงก็จะทำให้ผู้ได้รับพิษมีความสามารถในการรับรู้ต่ำ ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีโอกาสเป็นหมันและโรคมะเร็งสูง  สารไดออกซินเละฟิวแรนจะเกิดขึ้นได้ดีในช่วงอุณหภูมิระหว่าง 200-450 C ไดออกซินและฟิวแรนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อต้องมีองค์ประกอบครบทั้ง 3 ส่วน คือ คลอรีน สารประกอบอินทรีย์ และช่วงอุณหภูมิที่เหมาะสม ด้วยเหตุนี้การเผาไหม้ของยางล้อซึ่งมีคลอรีนเป็นองค์ประกอบในปริมาณร้อยละ 0.149 จึงอาจก่อให้เกิดไดออกซินจำนวนมากหากเผาไหม้ที่อุณหภูมิไม่สูงเพียงพอ

รายชื่อเอกสารที่เกี่ยวข้อง

พงษ์ธร แซ่อุย.  “เชื้อเพลิงจากยางล้อ”.  วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียาง.  ปีที่ 4, ฉบับที่ 1, (มกราคม-มีนาคม)  2553, หน้า 5.